Crypto Insight: รู้ทันกับดัก “Yield Farming” ความเสี่ยงที่ห้ามมองข้าม

แม้ว่าการลงทุนในโลก Cryptocurrency จะมีความเสี่ยงสูง แต่ทางกลับกันก็มีโอกาสคว้าผลตอบแทนสูงได้เช่นเดียวกันตรงกับสำนวนที่ว่า “High Risk High Return” โดยเฉพาะทางเลือกการลงทุนรูปแบบใหม่อย่าง “Yield Farming” เป็นการฝากเงินกับธนาคารบนโลก Blockchain ตัวแปรความเสี่ยงที่นักลงทุนห้ามมองข้ามเพื่อเป็น “ผู้รอด” พร้อมคว้ากำไรจากตลาดนี้จะต้องมีแนวคิดและแนวทางปฎิบัติอย่างไร รายการ “Crypto Insight” พาไปค้นคำตอบกับนายกานต์นิธิ ทองธนากุล “เจ้าของเพจ Kim Defi Daddy” และผู้ร่วมก่อตั้ง “Bitcoin Addict”

 

เจาะลึกโอกาสสร้างผลตอบแทนบนโลก “DeFi”

 

นายกานต์นิธิ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นบนโลก “Decentralized Finance” (DeFi) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ผลตอบแทนที่เกิดจากรายได้ของธุรกิจหลัก (Real Business) ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ เช่น รายได้จากค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยน (Trading Fee) ที่เข้าไปเพิ่มสภาพคล่อง หรืออาจเกิดจากดอกเบี้ยที่เราปล่อยกู้ (ให้ยืม) เหรียญ Cryptocurrency ต่าง ๆ และรายได้ส่วนนี้ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนตามหลักการทำงานของแฟลตฟอร์ม

2. ผลตอบแทนที่เกิดจาก Governance Token (โทเคนแสดงสิทธิในแต่ละแพลตฟอร์ม) เป็นโทเคนที่มอบแก่ผู้ใช้บริการบางแพลตฟอร์มมีจำนวนเหรียญที่มอบให้ (Supply) ไม่จำกัด จึงอาจเป็นสาเหตุของภาวะฟองสบู่ และเป็นที่มาของคำถามว่าหากแพลตฟอร์มนั้น ๆ ไม่มี Governance Token มอบให้แล้วผู้ใช้บริการหรือนักลงทุนจะยังคงใช้งานแพลตฟอร์มนั้น ๆ อยู่หรือไม่

“กรณีนักลงทุนคิดว่าต้องการลงทุนระยะยาว ควรคำนึงโมเดลการสร้างผลตอบแทนและหลักการทำงานของแพลตฟอร์มนั้นๆว่าพึ่งพาเหรียญ Gov Token มากไปหรือไม่ และแพลตฟอร์มนั้นๆสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวหรือไม่”

 

ห้ามมองข้ามความสำคัญของ “Community”

 

นายกานต์นิธิ กล่าวต่อว่า ธุรกรรมบน Blockchain สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้ ทำให้มีกลุ่มมิจฉาชีพทางเทคโนโลยี (Scammer) ลอกเลียนแบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ และทำการแก้ไขคำสั่งการทำงาน (Source Code) โดยการแก้ไขเหล่านี้ ต้องใช้ผู้ตรวจสอบเฉพาะทางจึงจะทราบถึงคำสั่ง (Code) ที่แก้ไข ซึ่งบางคำสั่งอาจเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินต้น ทำให้เกิดการสูญหายต่อเงินที่ฝากเข้าไปในระบบ

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่นักลงทุนเลือกลงทุนควรเป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย นักลงทุนควรเรียนรู้ และทำความเข้าใจในหลักการทำงานและการให้บริการของแพลตฟอร์มนั้น ๆ โดยนักลงทุนสามารถศึกษาได้จากกลุ่ม Community เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรับข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งช่วยกลั่นกรองและตรวจสอบแพลตฟอร์มและ Code ต่าง ๆ และควรลงทุนด้วยจำนวนเงินที่สามารถเสียได้เท่านั้น

 

เปลี่ยนสู่การเป็น Digital Farmer เต็มตัว

 

ต้องยอมรับการว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล “Cryptocurrency” มีหลากหลายรูปแบบทั้งการเทรด,การขุดคริปโท,การลงทุนผ่าน ICO,การตามล่าเหรียญ Airdrop และได้รู้จักกับแพลตฟอร์ม “Compound.finance” แพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่มีการล็อคเงินต้น สามารถตรวจสอบและถอนเงินออกได้ตลอดเวลา และหลังจากที่ได้ศึกษาเพิ่มเติม จึงพบว่าบนโลก DeFi มีแพลตฟอร์มกว่าหลายร้อยแพลตฟอร์มที่ให้บริการลักษณะนี้ กำลังแข่งขันกัน บางแพลตฟอร์มก็ทำงานร่วมกัน เหมือนโลกการเงินอีกโลกหนึ่งที่ทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนและยังมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ตั้งแต่นั้นมามุมมองการลงทุนก็เปลี่ยนไปจากการลงทุนรูปแบบเดิม ๆ ก็เริ่มที่จะใส่เม็ดเงินเข้าไปในโลก DeFi ศึกษาการลงทุนผ่าน “Yield Farming” แต่ในทุกโอกาสย่อมมีความเสี่ยง จึงได้สร้างเพจ “Kim DeFi Daddy” ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ และลดความเสี่ยงของนักลงทุนมือใหม่ที่เข้ามาในโลก “DeFi”

 

เลือกแหล่งฟาร์มข้อสังเกตรับผลตอบแทนบนโลก “DeFi”

 

หลักการเลือกแพลตฟอร์มการลงทุนบนโลก DeFi สามารถสังเกตได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 1.Total Value Locked (TVL) ยอดเงินที่ฝากอยู่ในระบบของแพลตฟอร์มนั้น บนโลก DeFi จะมีการเปิดเผยข้อมูล รวมไปถึงจำนวนเงินฝากในระบบ ยิ่ง TVL สูงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการสะท้อนปัจจัยความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มนั้น การที่มีคนฝากเงินเข้ามาในระบบมาก หมายความว่าแพลตฟอร์มนั้นก็น่าเชื่อถือมาก

2. Audit Company ผู้ให้บริการตรวจสอบธุรกรรมบน Blockchain กว่า 99% ของผู้ใช้งาน DeFi ตรวจสอบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) หรือคำสั่งปฏิบัติการ (Source Code) ไม่เป็น จึงมีบริษัทที่รับตรวจสอบ smart contract และความปลอดภัยในการทำงาน เช่น Certik.org, Peckshield.com และเผยแพร่รายงานความปลอดภัย ซึ่งนักลงทุนสามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้จากช่องทางเหล่านี้

3. Timing ระยะเวลาในการเปิดให้บริการ โดยที่ไม่ถูกโจมตีโดย Hacker แพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Uniswap หรือ Compound ที่มีมูลค่าเงินฝากในระบบมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และยังไม่เคยถูกโจมโดย Hacker แต่อย่างใด แสดงถึงความแข็งแรงและปลอดภัย เพิ่มความมั่นใจแก่นักลงทุน

4. Partner พันธมิตรหรือคู่ค้า แพลตฟอร์มที่มีการร่วมมือ (Partner) กับแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น Coinbase, Binance ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชื่อดังระดับโลก การที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างกันได้ ย่อมแสดงถึงการตรวจสอบด้วยทีมนักพัฒนาระดับโลกมาแล้วถึงความแข็งแรงของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่คอยป้อนคำสั่งการทำงาน

5. Governance Token โทเคนแสดงสิทธิ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม แต่ละแพลตฟอร์มจะมี Gov Token ของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งนักลงทุนสามารถซื้อ ขาย ทำกำไรจาก Governance Token เหล่านี้ได้ ทั้งนี้ การที่ Governance token จะสามารถลิสต์ขึ้นบนกระดานเทรด (Exchange) ได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบและมีมูลค่าในระดับหนึ่ง ดังนั้นการเลือกแพลตฟอร์มที่จะลงทุนในโลก DeFi ควรใช้ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ประกอบกันเพื่อคัดกรองและพิจารณาความเสี่ยง ไม่ควรเลือกจากข้อใดข้อหนึ่ง

 

กับดักกลโกงบนโลก DeFi มาในรูปแบบใดบ้าง

 

แม้ว่าการลงทุนในโลก DeFi จะโปร่งใส (ตรวจสอบได้) ให้ผลตอบแทนสูง แต่ในอีกมุมหนึ่ง บนโลก DeFi ก็มี “มิจฉาชีพ” ที่ตั้งใจหลอกลวงนักลงทุนเช่นกัน หรือที่เรามักเรียกว่า “Scam” หรือ “Rug Pull” (ล้มทั้งยืน) โดยกลโกงเหล่านี้มักไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า ต้องอาศัย Community ในการช่วยกันแจ้งเตือน

“Time Locked” เป็นอีกหนึ่งการทำงาน (Function) บนแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยให้นักลงทุนรู้ถึงการแก้ไข Source Code ล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น มีผู้แก้ไข Source Code จากเดิมที่ไม่สามารถถอนเงินออกได้ เป็นถอนเงินออกจากระบบได้ แต่ด้วยการทำงานของ Time Locked Function จะทำให้เห็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลงล่วงหน้าในอีก 12 หรือ 24 ชั่วโมง (แล้วแต่การตั้งค่าว่ากี่ชั่วโมง) โดยระยะเวลาก่อนที่การแก้ไขจะเกิดผลสมบูรณ์ หากมีสมาชิกใน Community ทราบก่อนก็จะมีการแจ้งข่าวเตือนกัน

ไม่ใช่ทุกแพลตฟอร์มที่มี Time Locked Function บางแพลตฟอร์มสามารถแก้ไข Source Code ได้ทันที นักลงทุนควรพิจารณาจากรายงานการตรวจสอบความปลอดภัยจาก Auditor ประกอบ

 

Rug Pull บนระบบ DeFi

 

“Rug Pull” (ดึงพรม) คือคำเปรียบเปรยการล้มทั้งยืน ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบหลายสาเหตุ โดยส่วนมากมักเกิดจากความตั้งใจให้ผิดพลาดจากเจ้าของแพลตฟอร์มหรือทีมพัฒนา (Developer) เอง ยกตัวอย่างกรณีของแพลตฟอร์มที่เปิดให้ฝากเงินในระบบและจ่ายผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ต่อมา Developer ได้มีการดึงเอาสภาพคล่อง (Liquidity) ในระบบไปเป็นของตัวเอง

หรือการสร้างแพลตฟอร์ม “Yield Farming” เปิดให้นักลงทุนนำเงินเข้ามาฝาก และรับผลตอบแทนเป็นเหรียญ Governance Token บางแพลตฟอร์มจ่ายผลตอบแทนหลัก 1,000% ต่อปี เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนซื้อเหรียญไปฝาก ทำให้ราคาเหรียญปรับตัวสูงขึ้น จากนั้นก็ทำการสร้าง (Mint) เหรียญขึ้นมามหาศาล (ไม่จำกัด) และทำการเทขายทำกำไรในคราวเดียว ราคาร่วงลงกราวรูด ลักษณะคล้ายฟองสบู่แตก

กลโกงลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายนักลงทุนควรพิจารณาแพลตฟอร์มเพื่อเลือกลงทุน โดยสามารถตรวจสอบ TVL จาก Defipulse.com หรือ Defistation.io และสามารถตรวจสอบรายงานจากฝั่ง Auditor ได้จาก certik.org

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ อยากให้มองข้ามกับดักเรื่องผลตอบแทน อย่าลงทุนเพียงแค่ให้ผลตอบแทนสูง บางแพลตฟอร์มอาจสร้างขึ้นมาโดยมิจฉาชีพทางไซเบอร์ อยากให้นักลงทุนค่อย ๆ ศึกษา และเริ่มต้นด้วยเม็ดเงินเพียง 5-10% ในการลงทุน เพื่อให้เข้าใจถึงระบบการทำงานในโลก DeFi ที่แท้จริง

บทความโดย ดวงกมล คล่องบุญจิต

– อ่านข่าวตอนที่ 1 https://www.infoquest.co.th/2021/102631

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top