สัมภาษณ์พิเศษ: GTG ดาวรุ่งสายนวัตกรรมกัญชงขั้นสูง ชูสายพันธุ์ “รักษา” ท้าชิงเค้กตลาดโลก

กระแสการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงในประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขประกาศผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเมื่อต้นปี 64 ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชนร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ทั้งการขยายตลาดในประเทศและขยายสู่การแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับโลก

บริษัท โกลเด้น ไทยแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (GTG) นับเป็นหนึ่งผู้ประกอบการรายสำคัญในอุตสาหกรรมกัญชงในประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบด้านวัตกรรมการเพาะปลูกกัญชงที่ทันสมัยได้รับมาตรฐานระดับสากลควบคู่กับการนำสายพันธุ์ “รักษา” ที่มีผลวิจัยระบุว่ามีสาร CBD สูงตรงตามคุณสมบัติที่ข้อกฎหมายกำหนดเหมาะกับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทยและชาวต่างชาติ

*GTG เจ้าของกัญชงสายพันธุ์ “รักษา”

นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการ GTG เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทได้เริ่มศึกษาเรื่องกัญชงและกัญชามาตั้งแต่ปี 62 หลังจากประเทศไทยมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนการใช้กัญชาและกัญชงทางการแพทย์

GTG เริ่มต้นจากการซื้อสายพันธุ์ที่ได้รับรางวัล พร้อมทั้งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายมาตั้งแต่ในปี 63 เพื่อค้นคว้าวิจัยหาต้นแม่พันธุ์ที่เหมาะสมกับกฎหมายไทย ซึ่งต้องมี THC ไม่ถึง 1% ในดอกแห้ง จึงออกมาเป็นเมล็ดพันธุ์กัญชงที่ชื่อว่า “สายพันธุ์รักษา” ซึ่งมี THC ไม่ถึง 1% และ CBD สูงถึง 16-18% ในดอกแห้งที่เฉลี่ยทั้งต้นตรงตามคุณสมบัติที่ข้อกฎหมายกำหนด

ปัจจุบัน GTG เป็นบริษัทเดียวในเอเชียที่เป็นเจ้าของสายพันธุ์รักษาที่พร้อมจะผลิต CBD ซึ่งเหมาะกับภูมิอากาศและลักษณะการปลูกในประเทศไทย ล่าสุด บริษัทเดินหน้าสร้างโรงปลูกที่ได้มาตรฐาน GMP ที่เชียงรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีผลผลิตออกมาในเดือน ม.ค.65

ด้านกฎหมายของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาตให้นำสารสกัดจากกัญชงมาใช้กับเครื่องสำอางได้ โดยสารตัวสำคัญที่ใช้ในการรักษาผิว คือ CBDA ซึ่งเป็นฟอร์มหนึ่งของ CBD ที่ยังอยู่ในรูปของกรดอะมิโนแอซิดที่สกัดเย็นออกมาจากดอก สรรพคุณช่วยซ่อมแซมผิวพรรณ ซึ่งสายพันธุ์รักษาสามารถผลิต CBDA ได้ถึง 15.8% ต่อต้น และสามารถให้ CBD ได้มากถึง 120-150 กรัมต่อต้น ขณะที่สายพันธุ์อื่นที่ปลูกในไทยมีสาร CBD เพียง 70 กรัมต่อต้น หรือคิดเป็นมีสาร CBD ราว 7-8% ต่อต้นเท่านั้น

*ลุ้นคว้าใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชงจาก อย.ส่งมอบล็อตแรก ม.ค.65

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันฟาร์มกัญชงบริษัทอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย การก่อสร้าวคืบหน้าไปแล้ว 99% คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือน ส.ค.นี้ และจะเริ่มปลูกได้ในเดือน ก.ย.64 ซึ่งจะสามารถส่งมอบผลผลิตล็อตแรกให้กับลูกค้าได้ในเดือน ม.ค.65

สำหรับโรงปลูกแห่งที่สองอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯมีขนาด 5 พันตารางเมตรใกล้กับสำนักงานใหญ่ ตอนนี้เริ่มมีการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือน ต.ค.และจะเริ่มปลูกในเดือน พ.ย.ซึ่งจะสามารถส่งมอบผลผลิตได้ราวไตรมาส 2/65 นอกจากนี้ยังมีฟาร์มขนาดใหญ่อีกแห่งในจังหวัดเชียงรายพื้นที่ปลูก 1 หมื่นตารางเมตร น่าจะส่งมอบผลผลิตได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 65 อีกด้วย ทาง GTG จึงคาดการณ์ว่าปี 65 จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุน

“เราเล็งเห็นว่าปี 65 จะเป็นปีที่สำคัญของเรา เพราะเริ่มมีการทยอยส่งผลผลิตได้ จึงเป็นโอกาสทองของเราที่จะเข้าหาลูกค้าได้มากขึ้น และ GTG เอง ก็แตกต่างกับหลายบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นทำในตอนนี้ เพราะทางเรามีใบอนุญาตปลูกกัญชามาก่อน และเราก็มีแม่พันธุ์ที่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ปี 63 ซึ่งปัจจุบันเราก็จะเข้ามาทำ Commercial แล้ว และที่สำคัญที่สุดน้ำมันสกัดของ GTG ผ่านการ Certificated of analysis (CoA) และ Minimum Order Quantity (MOQ) ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับผลผลิต เราสามารถนำไปยืนยันกับลูกค้าได้ว่าเราสามารถผลิตให้ได้มาตรฐานตามนี้ ซึ่งวันนี้เราก็เป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตออกมาได้แล้วจริงๆ”นายกฤษณ์ กล่าว

*กระแสตอบรับลูกค้าเพียบ ตีโจทย์แข่งขันในตลาดโลก

นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจกัญชงมีตลาดที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่น ตลาดยุโรป ซึ่งมีความต้องการสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องถูกรับรองด้วยมาตรฐานอย่าง EUGMP จึงจะสามารถนำเข้าและจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ ทาง GTG จึงเล็งเห็นช่องทางดังกล่าว และเลือกการปลูกแบบ Indoor เพื่อที่จะสามารถควบคุมมาตรฐานการผลิตที่ทางยุโรปจะสามารถยอมรับได้

นอกจากนี้ GTG ยังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลออสเตรเลีย โดยมีการเตรียมออกใบอนุญาตนำเข้าทางการแพทย์ให้กับทางบริษัท ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลออสเตรเลียมั่นใจในมาตรฐานของ GTG มากถึงขั้นที่จะนำไปผลิตยาที่ออสเตรเลีย

“ปัจจุบันบริษัทตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตมืออาชีพที่สามารถผลิตสินค้าให้กับลูกค้าทุกราย จึงวางตัวเป็นเหมือน Raw material และผู้ผลิต OEM โดยกฎหมายกัญชงอนุญาตให้ส่งออก CBD ได้ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทาง เพราะฉะนั้นข้อกำหนดบางอย่างที่ประเทศไทยยังทำไม่ได้ สามารถทำได้ในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใส่ CBD ในน้ำมันนวด แต่ถ้าเป็นประเทศในยุโรปสามารถทำได้

ดังนั้น จะเห็นว่าตลาดต่างประเทศเปิดกว้างกว่าในไทยมาก ฉะนั้น GTG จึงทำ Product Catalog ส่งไปให้บริษัทในต่างประเทศ เพื่อที่เราจะสามารถผลิตสินค้า OEM โดยอยู่ภายใต้แบรนด์ของลูกค้าได้ และเรายังมีจุดแข็งเรื่องความเป็นไทย ซึ่งตลาดในยุโรปให้ความสนใจค่อนข้างสูง”

นายกฤษณ์ กล่าว

ขณะที่ในประเทศไทยที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับ Distributor รายใหญ่หลายแห่ง และเริ่มร่วมงานกับบริษัท OEM เครื่องสำอางเพื่อรองรับผู้ประกอบการ SME ที่มีความต้องการผลิตเครื่องสำอางที่ใช้ CBD ก็มีหลายสูตรให้เลือก เพื่อมั่นใจว่าลูกค้าของจะสามารถแข่งขันได้เต็มศักยภาพ

นายกฤษณ์ กล่าวว่า GTG ไม่ได้มองเพียงการแข่งขันเรื่องสารสกัด CBD อย่างเดียว แต่ต้องการสร้างการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้สำหรับการปลูก Outdoor ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในไทย แต่รวมทั้งประเทศอื่นในอาเซียนด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา หรือ เวียดนาม ซึ่ง GTG กำลังพัฒนาสายพันธุ์เหล่านี้เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายให้กับผู้ต้องการจะปลูกในอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมองถึงการส่งออกทางการแพทย์ เพราะปลูกในรูปแบบ Indoor ทำให้ยังเห็นการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้อีกมาก

“คำว่ากัญชงมันกว้างมาก สามารถนำไปทำอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องนุ่งห่ม ยา หรือ เครื่องดื่ม มันกว้างมากพอสำหรับผู้เล่นทุกคนที่เข้ามาเล่นวันนี้ นอกจากนี้ยังมองถึงความต้องการสารตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาร CBN, CBG ในกัญชง และยังมีสารอีก 100 กว่าชนิดให้เราค้นคว้าต่อไป เราจึงยังเห็นการเติบโตอีกมากในอุตสาหกรรมนี้” นายกฤษณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top