KTC ผนึก KTBL เพื่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลควบคู่คุมคุณภาพ

บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดแผนกลยุทธ์ครึ่งปีหลังกลุ่มธุรกิจสินเชื่อผนึกความร่วมมือผลักดันสินเชื่อไม่มีหลักประกันเข้ากับสินเชื่อมีหลักประกัน หลังได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อที่หลากหลายจากการเข้าถือหุ้น บจก.กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) ตอบโจทย์ความต้องการคนไทยทุกอาชีพและเจ้าของธุรกิจในทุกมิติ พร้อมอัพเกรดผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซีพี่เบิ้ม” ควบคู่ไปกับการคุมคุณภาพหนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล KTC เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีพก็ตาม การทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลในปี 64 มองว่าการดำเนินธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่ายและท้าทายสูงที่จะผลักดันให้พอร์ตลูกหนี้เติบโตท่ามกลางวิกฤติ

ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าจะมีความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้าในตลาดอยู่บ้าง แต่บริษัทเองมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะต้องการเน้นคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลให้มีคุณภาพที่ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งจะเห็นได้จากอัตราการอนุมัติของกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับตัวลดลงเหลือ 30% ทำให้เป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ โดยในปี 64 บริษัทยังคงเป้าพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้เท่ากับสิ้นปีก่อนที่ 2.94 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การกลับมาทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.64 อาจช่วยหนุนการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลให้กลับมาฟื้นได้บ้าง แต่ยังต้องดูพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยหรือการกลับมาประกอบกิจการอีกครั้งว่าเป็นอย่างไรหลังจากผ่านเดือนนี้ไปแล้วถึงจะเริ่มเห็นภาพตลาดชัดเจนมากขึ้น หลังจากการปล่อยสินเชื่อในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 64) ลดลงไปกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น โดยมีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้าใหม่ไปเพียง 30,000 ราย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเตรียมในการขยายบริการสินเชื่อส่วนบุคคลไปสู่การให้บริการแบบดิจิทัล (Digital Lending) ที่จะเข้ามาเสริมการขยายการบริการสินเชื่อ พร้อมกับการบริการขอสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชั่น KTC Touch ซึ่งจะนำเข้ามาเสริมการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ได้รับความสะดวกอย่างรวดเร็วในการขอสินเชื่อ และขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นอีก

สำหรับการควบคุมหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทยังมีการควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยที่วางเป้าหมายควบคุมให้อยู่ในระดับ 3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่ 3.5% โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งได้สิ้นสุดการรับสมัครลูกค้าเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ไปแล้ว โดยที่มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ทั้งสิ้น 13,000 ราย จากฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั้งหมด 800,000 ราย

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ หรือ KTC พี่เบิ้ม เปิดเผยว่า หลังจากธุรกิจ KTC พี่เบิ้มเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่เดือนส.ค. 63 เป็นต้นมา และมีการควบรวมกิจการกับ KBTL ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นปีช่วงเวลา 1 ปีในการเริ่มต้นธุรกิจที่มีความท้าทายอย่างมากภายใต้ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดโควิด-19

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 ปล่อยสินเชื่อใหม่ของ KTC พี่เบิ้มยังไม่ถึง 500 ล้านบาท หรือไม่ถึง 50% ของเป้าหมาย 1 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การทำตลาดของ KTC พี่เบิ้มเพื่อให้ลูกค้ารับรู้แบรนด์ยังไม่สามารถทำได้ได้อย่างเต็มที่ และในตลาดมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ขณะที่บริษัทยังเน้นการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่คุณภาพเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะยังไม่มสามารถประเมินภาพในระยะถัดไปได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แม้ว่าปัจจุบันสถานการณืโควิด-19 ในประเทศจะเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาบ้าง และมีการผ่นอคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังม่ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ของ KTC พี่เบิ้ม อาจจะยังมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่มั่นใจว่าจะยังสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 พันล้านบาท

โดยในช่วงที่เหลือของปี 64 กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ KTC พี่เบิ้ม หลังจากที่มีผลิตภัณฑ์จากกรุงไทยลีสซิ่งเข้ามาเพิ่มความหลากหลายแล้ว จะเดินหน้าการขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยจะขยายไปกับสาขาของธนาคารกรุงไทย (KTB) ในทุกภูมิภาค ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และรวมกับสาขาที่เป็นเครือข่ายของกรุงไทยลีสซิ่ง จำนวน 10 สาขา ทำให้สามารถขยายการให้บริการและเข้าถึงลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกันยังรุกการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จากการนำความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อม 4 จุดแข็ง วงเงินใหญ่ อนุมัติใน 2 ชั่วโมง และรับเงินทันที รับสมัครสมาชิกไม่จำกัดอาชีพ และบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ (P Berm Delivery) อนุมัติสินเชื่อถึงที่ ไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาใช้ในการดึงดูดกลุ่มลุกค้าเป้าหมายให้เข้ามามากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ด้านการควบคุมคุณภาพหนี้ในพอร์ต KTC พี่เบิ้ม ยังคงให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ภายใต้ภาวะความไม่แน่นอน โดยที่ยังคงควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับ 3% อย่างต่อเนื่องถึงสิ้นปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top