ทรีนีตี้ ให้กรอบ SET 1,550-1,650 ขึ้นกับ Bond Yield หวังมาตรการกระตุ้นรอบใหม่

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน ต.ค.64 คาดว่า SET Index จะเกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,650 จุด

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนมองว่าไฮไลท์จะอยู่ที่พัฒนาการของผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐเป็นสำคัญ เนื่องด้วย ณ ขณะนี้นักลงทุนในตลาดยังไม่เชื่อ Dot plots ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกมาก่อนหน้านี้มากนัก ดังนั้นหากมีตัวเลขเศรษฐกิจใดก็ตามที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น จะทำให้ระดับ Fed Funds futures ในตลาดยกตัวสูงขึ้นได้ จนส่งผลให้ Bond yield และเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ลดลง

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คงต้องติดตามพัฒนาการเชิงบวกทางด้านวัคซีนและการคลาย Lockdown ในประเทศที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่นับรวมกับ Upside risk ที่อาจเกิดขึ้น หากภาครัฐมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในปีงบประมาณใหม่ หลังจากที่ได้มีการปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ 70% ของจีดีพีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ประเมินว่าจะส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

นายณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์แนะนำเพียงแค่การถือครองหุ้นในส่วนเดิมที่ได้เข้าสะสมก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนี 1,600 จุด ส่วนการเพิ่มน้ำหนักใหม่ยังไม่แนะนำจนกว่าดัชนีจะลงมาใกล้เคียงกับระดับแนวรับ เดือนนี้ที่ 1,550 จุด และยังคงโฟกัสไปที่กลุ่มหุ้น Domestic play โดยเฉพาะ Domestic consumption ที่อิงไปกับการฟื้นตัวของภาคแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ

นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากภาวะความชัน Yield curve ขาขึ้น และมีลุ้นรับข่าวเชิงบวกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ

สำหรับหุ้นที่แนะนำ มี 15 บริษัทดังนี้ 1.กลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น ได้แก่ CPALL, COM7, MAKRO, HMPRO, GLOBAL, DOHOME 2.กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ต่อการใช้ไฟของภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ได้แก่ GULF, GPSC, BGRIM 3.หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการสถานีปั๊มน้ำมันจากอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ OR และ PTG

4.กลุ่มธุรกิจ AMC ที่เรามองไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ SCB แต่ราคากลับปรับตัวลงมาแรง ได้แก่ JMT, CHAYO 5.หุ้น 2 บริษัทที่อยู่ในธีม Index rebalancing ซึ่งจากการคำนวณของเราพบว่าหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี MSCI Thailand Standard Index ในรอบถัดไปจะได้แก่ TTB ส่วนหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไปจะได้แก่ AWC

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่

1.ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง จากปรากฏการณ์ Restocking ที่ผ่อนคลายลงและปัญหา Supply-chain disruption มองเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมายังภาคการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ETRON และ AUTO

2.การประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 4 ต.ค ซึ่งเริ่มมีกระแสคาดการณ์ถึงการคืนกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมที่4 แสนบาร์เรลต่อวัน หากเกิดขึ้นจริงมองเป็นปัจจัยยับยั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบชั่วคราวได้

3.รายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ต.ค.ซึ่งหากออกมาดีมากจะส่งผลต่อคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตให้มีการปรับขึ้นได้จนส่งผลกดดันต่อตลาดทุน

และ 4.การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ซึ่งมองว่าข่าวร้ายได้อยู่ในราคาไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic demand ที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top