รมว.สธ. ลงพื้นที่ปัตตานี-กระจายจุดฉีด เพิ่มการรับวัคซีนให้ตามเป้า 70% ภายในต.ค.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ลงไปในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มอีก 1 ล้านโดส เนื่องจากพบการแพร่ระบาดหลายสายพันธุ์ และเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ภายในเดือนต.ค. ซึ่งล่าสุดได้ส่งวัคซีนถึงพื้นที่แล้ว 180,000 โดส แยกเป็นจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส จังหวัดละ 40,000 โดส และสงขลา 60,000 โดส โดยจะทยอยส่งจนครบ 1 ล้านโดส ภายในเดือนต.ค.นี้

พร้อมกันนี้ ได้ย้ำให้ในพื้นที่สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนผ่านเครือข่ายผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ให้ทราบถึงผลดีของการฉีดวัคซีน และร่วมมือเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจัดหาให้ เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศต้นทางที่เป็นผู้ผลิต และ อย.ไทย โดยไม่มีส่วนประกอบที่ขัดต่อหลักศาสนา และแม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่สามารถช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ถึง 95% ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนยังต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention)

สำหรับจังหวัดปัตตานี ขณะนี้พบการติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นเฉลี่ย 500 รายต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในบ้าน ชุมชน ตลาด แหล่งท่องเที่ยว ขณะที่ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนยังไม่สูงมากนัก โดยกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) อยู่ที่ 50.2% เด็กนักเรียน 22.4% และประชาชนทั่วไป 34.1%

ดังนั้นจึงใช้กลยุทธ์กระจายจุดฉีดวัคซีนไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในชุมชน ร้านน้ำชา ตลาด ลงพื้นที่ให้บริการตามบ้านของกลุ่ม 608 และเปิดรับ Walk in ทุกกลุ่มที่ศูนย์ฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นอกจากนี้ ยังเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยการบริหารจัดการของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี สามารถให้บริการฉีดได้ 5,000-6,000 คนต่อวัน ทั้งผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า และผู้ที่นัดหมายในรูปแบบองค์กร หมู่บ้าน และชุมชน

ส่วนวันนี้ ให้บริการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 สำหรับประชาชนทั่วไป 300 โดส แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 จำนวน 1,600 โดส และวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียนอายุ 12-18 ปี ประมาณ 1,600-2,000 โดส

สำหรับการพบการติดเชื้อในสถานพยาบาล ส่งผลให้บุคลากรต้องเข้ารับการกักตัวจำนวนมาก และอาจกระทบกับการให้บริการประชาชน กรมการแพทย์ได้ส่งบุคลากรการแพทย์อาสาสมัครรวม 18 คน ลงปฏิบัติงานที่ รพ.ปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 13-24 ต.ค. 64 และสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถบริการดูแลรักษาประชาชนได้อย่างดีที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , ,
Back to Top