ครม.รับทราบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 มุ่งสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่ายั่งยืน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (66 – 70) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

โดยร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี

ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ 4 ประการ คือ

1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2) แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน

3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

4) โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 ประการ คือ 1.การปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม 4.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ 5.การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

พร้อมกำหนด 13 หมุดหมายของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่ชัดเจนใน 4 มิติ ดังนี้

1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย 6 หมุดหมาย คือ 1)ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2)ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3)ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4)ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5)ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6)ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน

2. มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย 3 หมุดหมาย คือ 7)ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ 8)ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 9)ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคน มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 หมุดหมาย คือ 10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11)ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย 2 หมุดหมาย คือ 12)ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13)ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

รองโฆษกฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้ สศช. ประสานงานกับสำนักงานประมาณ เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ และให้ สศช. นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ครม. พิจารณาความเหมาะสมตามลำดับต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top