Crypto Insight: เปิดโปงโลกมืดคริปโทฯ อดีตตำรวจไซเบอร์สู่รายใหญ่วงการบล็อกเชน

เปิดโปงโลกด้านมืดตลาด Cryptocurrency ผ่านสายตาของอดีตนายตำรวจใหญ่ ผู้คร่ำหวอดวงการเทคโนโลยีและการสืบสวนอาชญากรรมไซเบอร์อย่าง พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บล็อกเชนไพรมารี่ จำกัด อดีตรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่วันนี้ขอพลิกผันชีวิตก้าวเข้าสู่วงการบล็อกเชนอย่างเต็มตัว

มองไกล Blockchain : Bitcoin เปลี่ยนโลก !!

พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บล็อกเชนไพรมารี่ จำกัด เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ย้อนไปเมื่อปี 2558 สมัยที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะตำรวจไซเบอร์ ได้เข้าไปรับทำคดีแชร์ลูกโซ่ “U-Fund” ซึ่งผู้ต้องหาได้นำ Cryptocurrency มาเป็นสื่อกลางหลอกลวงนักลงทุน เป็นจุดเริ่มต้นให้ได้รู้จักกับ “บิทคอยน์” เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็เริ่มศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่า สิ่งนี้แหละที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลกของเรา

“คุณสมบัติทั้งความคงทน (Durability) และความมีจำกัด (Scarcity) ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้ทองคำ “มีค่า” จากก้อนหิน (โลหะ) ธรรมดาจนคนนำ “ทองคำ” มาค้ำประกันมูลค่าของเงินกระดาษ (Fiat Money) ซึ่งจริง ๆ แล้ว “บิทคอยน์” ก็มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับทองคำ ทั้งความคงทน (ของบล็อกเชน) ที่ไม่มีใครสามารถ Hack หรือทำลายได้ อีกทั้งยังมีจำกัด ลดการผลิตลงทุก 4 ปี จนไม่สามารถผลิตเพิ่มได้

แต่ลักษณะที่ทำให้ “บิทคอยน์” เหนือกว่าทองคำก็คือ “บิทคอยน์” สามารถโอนถ่าย ขนย้าย ได้ง่ายกว่าและรวดเร็วกว่าทองคำมาก”

พ.ต.อ.ปองพล กล่าวต่อว่า หลังจากที่ผ่านประสบการณ์ลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายในตลาด Cryptocurrency วันนี้ได้เลือกใช้วิธี DCA (Dollar Cost Average) คือการซื้อโดยไม่สนใจราคา เน้นที่การเก็บออมเป็นประจำ โดยการลงทุนลักษณะนี้ จะทำให้เราทราบต้นทุนเฉลี่ยของเงินที่เราลงทุนไป

“ผมคิดว่า บิทคอยน์ ก็เหมือนกับทองคำดิจิทัลที่ในอนาคตจะเริ่มแพร่หลาย และมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่ “อีเธอเรียม” (ETH) ก็เป็นอีกเหรียญหนึ่งที่น่าสนใจ และมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ มาเปิดให้บริการบน ETH มากมาย จึงมักให้เครดิตใน 2 เหรียญนี้เป็นหลัก”

เปิดโปงโลกมืดบนโลกคริปโทฯ

พ.ต.อ.ปองพล กล่าวถึงกลโกงหลายรูปแบบว่า ปัจจุบัน SCAM (ผู้หลอกลวง) มีหลายประเภท และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจมีทั้งการปลอมเว็บไซต์ขึ้นมา ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจผิด หรือแม้แต่เป็นการหลอกขอรหัส (Seed Words) นักลงทุนควรระมัดระวัง ไม่ให้รหัส (Seed Words) แก่ผู้อื่น และไม่ควรเข้าเว็บไซต์ที่มีการโฆษณา หรือคลิ๊กเว็บไซต์ที่ส่งมาจากผู้ที่ไม่รู้จัก

ไม่เพียงแค่ความผิดพลาดจากผู้ใช้งานที่ไม่ระมัดระวัง SCAM บางประเภทอาจปลอมประวัติและรูปภาพ เข้ามาพูดคุยและชักชวนลงทุน (Love Scam) กรณีที่เจอลักษณะนี้ควรกด Report และบล็อก (Block) เพื่อเป็นการแจ้งต่อแพลตฟอร์มถึงผู้ใช้งานที่มีการปลอมบัญชีเข้ามา

พ.ต.อ.ปองพล กล่าวว่า จากประสบการณ์การเป็นตำรวจสากล เห็นกลโกงมาค่อนข้างมาก ก็จะรู้ได้แทบจะทันทีว่าเป็นการหลอกลวง โดยเฉพาะจากผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ อย่างล่าสุด มีผู้ใช้โปรไฟล์ว่าเป็นแพทย์จากสิงคโปร์ ส่งข้อความมาขอสอบถามสถานการณ์โควิด แต่จำได้ว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนมีผู้ที่ใช้รูปโปรไฟล์นี้เคยส่งมาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้เบอร์นี้

ดังนั้น หากมีคนแปลกหน้าส่งข้อความมาทางช่องทางส่วนตัว แทบไม่เคยเจอว่าเป็นของจริง เมื่อพบก็ควร Block หรือ Report ให้ทางแพลตฟอร์มรับทราบ

“ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เสียหายเฉพาะในเมืองไทยที่เรารวบรวมไว้กว่า 200 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาทแล้ว เฉพาะกลุ่มเดียวจากเคสเดียว แล้วคนที่โดนหลอกก็ไม่ใช่คนทั่ว ๆ ไป คนนึงโดนไป 91 ล้านบาท 42 ล้านบาท 31 ล้านบาท ส่วนมากที่โดนเป็นทันตแพทย์ เพราะไม่เคยเจอคนมาปองร้าย เลยโดนไปเยอะ

ถ้าทักมาในช่องทางไหนก็ตาม ถ้าเป็นคนแปลกหน้าให้คิดไว้ก่อนว่าคุณต้องการอะไร คิดอะไรกับเรา ถ้าคุยมาบอกอยากจะเรียนภาษา แต่สุดท้ายก็จะมาชวนลงทุน ถ้ามาแบบนี้ 100 ล้านเปอร์เซ็นต์โกงแน่นอน การลงทุนจะไม่โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลต้องโอนเข้าบัญชีบริษัทมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเท่านั้น”

นอกจากนั้น ยังมีข้อแนะนำว่าการเลือกซื้อ Cold Storage หรือ Hardware Wallet ผู้ใช้งานควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ไม่ควรเลือกซื้อจากตลาดซื้อ-ขายทั่วไป เพราะเคยมีกรณีคนร้ายซื้อของจริงมาแกะกล่องแล้วฝังมัลแวร์ลงไป จากนั้นประกาศขายตามมาร์เก็ตเพลสดัง ๆ ในราคาถูกกว่าร้านอื่น เมื่อเรานำมาใช้งานโอนเงินเข้า Wallet เงินก็จะไหลไปอยู่กับแฮกเกอร์

เตือนเช็คละเอียด Developer – Source Code

สำหรับการเลือกลงทุน ICO (Initial Coin offering) เป็นการระดมทุนเพื่อไปพัฒนาโปรเจกต์ที่เคยได้รับความนิยมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อยากเตือนนักลงทุนว่าการลงทุนในโปรเจกต์หรือ Cryptocurrency ควรพิจารณาที่ทีมงาน Developer ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ มีประวัติอย่างไร มีการเปิดเผย Source Code พร้อมให้ตรวจสอบหรือไม่ และมี Audit หรือไม่ หรือบางเว็บเปิดเผยข้อมูลว่ามี Audit 2 เจ้า แต่พอเช็คดี ๆ แล้วก็เป็น Audit ปลอมทั้งคู่

“ปัจจุบันระดมทุน ICO ยังคงมีอยู่ แต่อาจมีการเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “Pre-Sale” ซึ่ง “ICO” ดังกล่าวอาจประกอบด้วยไอเดียที่ดี และทีมงานคุณภาพ แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ หรือบางประเภทอาจตั้งใจออก “ICO” เพื่อมาหลอกลวงนักลงทุนเลย”

Social Bureau โปรเจกต์ทวงคืนความยุติธรรม

ด้วยประสบการณ์จากอาชีพตำรวจที่เข้าถึงปัญหาของผู้เสียหายที่ไม่มีโอกาสได้เงินคืนจากการโดนหลอกลวง วันนี้จึงสร้างแพลตฟอร์ม “Social Bureau” เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเข้ามารายงานที่แพลตฟอร์ม และรับโทเคนเป็นผลตอบแทนหลังจากที่ข้อมูลที่แจ้งได้รับการตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลจริง ในฐานะที่ได้ช่วยขับเคลื่อน Community

ปัจจุบันโปรเจกต์ Social Bureau ได้ร่วมมือกับ Forus Holding ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ทำ CBDC (Central Bank Digital Currency) ให้แก่ประเทศอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ในการจัดการและเชื่อมต่อข้อมูลกับสถาบันการเงินทั่วโลก โดยโปรเจ็คต์ https://socialbureau.io/ จะไม่มีการระดมทุนและขายเหรียญในประเทศไทย นักลงทุนที่สนใจอยากให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนทำการลงทุน

โดย ดวงกมล คล่องบุญจิต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top