นายกฯ กำชับความพร้อมรับต่างด้าวสู่ภาคแรงงาน เดินหน้า Factory Sandbox เฟส 2

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แนวนโยบายตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ได้ให้แนวทางหลังรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการเปิดประเทศ ซึ่งภาพรวมเป็นไปได้อย่างดี ทั้งนี้ ภาคแรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยขับเคลื่อนไปได้อย่างสำเร็จนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางเดินหน้าโครงการ Factory Sandbox ระยะที่ 2 พร้อมเปิดทางให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเสริมทัพภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ตาม MOU ที่กระทรวงแรงงานเสนอให้พิจารณา

โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงานเดินหน้าโครงการ Factory Sandbox ในระยะที่ 2 เน้นการดำเนินการตามมาตรการตรวจ ควบคุม รักษา ดูแล โดยขยายกรอบขอบเขตจังหวัด จากเดิมดำเนินการเฉพาะใน 4 จังหวัด เพิ่มเป็น 11 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ อีกทั้งปรับลดหลักเกณฑ์ขนาดสถานประกอบการ จากเดิมกำหนด 500 คนขึ้นไป เป็น 100 คนขึ้นไป

นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าหลังวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงานที่กรมการจัดหางานได้เลย โดยแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็มหรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT-CR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน วันละ 500-1,000 บาท และค่าตรวจหาเชื้อโควิด2 ครั้ง รวม 2,600 บาท

กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อฯ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัว แรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางเพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด โดยนายจ้างจ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์

นายธนกร กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้วางแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ตาม MOU ซึ่งมี ขั้นตอนดังนี้

1. นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคนต่างด้าว

2. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางาน และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

3. นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง

4. กรมการจัดหางานทำหนังสือถึงสถานทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non-Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้

5. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ผลตรวจโควิด-19 และหลักฐานการได้รับวัคซีน (ถ้ามี) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตวีซ่า (Non-Immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้เท่านั้น และต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนดห้ามแวะสถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว

6. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรค กักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR

7. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

“นายกฯ สั่งการให้เตรียมความพร้อมภาคแรงงานล่วงหน้า เพื่อให้นายจ้าง และสถานประกอบการ มีแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจสาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ” นายธนกร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top