ผู้ว่าธปท.แนะเร่งยกระดับเครื่องยนต์เดิม-โตแบบ Growth story สอดรับกระแสดิจิทัล-ยั่งยืน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด 19” ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงไม่เปลี่ยแปลงแม้ว่าจะผ่านช่วงยุคทองมา 40 ปีแล้ว โดยยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิม ๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

ดังนั้น Growth story ของไทยจำเป็นต้องเร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยเศรษฐกิจไทยคงต้องโตแบบไทย เน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บางเรื่องอาจดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ

และในภาพรวม ต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างทันการณ์ ซึ่งในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง Growth story อย่างแรก คือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือ sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน

ขณะที่ภาครัฐจะต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ภาคส่วนอื่น ๆ ทำไม่ได้ ประกอบด้วย การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ

รวมทั้ง การเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ (Regulatory guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม digital infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกของเราได้

สำหรับภาคธุรกิจ ถือเป็นผู้เล่นสำคัญใน Growth story ของไทย ที่จะต้องตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจต้องแข่งกันมากขึ้น และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่าง ๆ อย่างจริงจังและทันท่วงที เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและความปลอดภัย ตัวอย่างที่ชัด คือ การปรับตัวเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีตาม carbon footprint บนสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป ที่กำลังจะถูกบังคับใช้ หากเราไม่ปรับตัว สินค้าส่งออกที่ยังมี carbon footprint สูง ซึ่งมีกว่า 50% ในการส่งออกรวมของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

สำหรับธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ให้สนับสนุนการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อหรือเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำเทคโนโลโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับธุรกิจ หรือมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการผนวกเรื่อง ESG ในกระบวนการให้สินเชื่อ และมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของ ธปท. เองในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยเอื้อให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง

ปัจจุบัน ธปท. กำลังเร่งวาง future financial landscape เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับ shock ได้ดีขึ้น คาดว่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในต้นปีหน้า

ภายใต้ landscape นี้ ธปท.จะปรับแนวทางการดูแลระบบการเงินจากการเน้นเรื่อง stability มาให้น้ำหนักกับ resiliency โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สำคัญ คือ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อด้อยที่ครัวเรือน 86% ยังมีหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ และกว่า 60% ของ SMEs ในไทยยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งการนำเทคโนโลยี เช่น digital มาใช้ จะช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงิน ผ่าน API และ digital ID ภายใต้ National Digital ID (NDID) platform จะช่วยลดขั้นตอนธุรกรรม ลดต้นทุน และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดกับประชาชนและภาคธุรกิจ

สำหรับการปรับตัวเข้าสู่กระแสความยั่งยืนที่มาเร็วและแรงกว่าที่คาด ธปท.ได้เร่งสร้างการตระหนักรู้ และจะออกแบบ ecosystem ที่มีองค์ประกอบสำคัญ เช่น การเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อม และการนิยามการเงินสีเขียว (green taxonomy) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ในการจัดทำจะคำนึงถึงบริบทของไทยที่ยังแตกต่างจากสากลอยู่บ้าง เพื่อช่วยให้การปรับตัวของธุรกิจและระบบการเงินเป็นไปอย่างราบรื่น

“หวังว่า ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศ เศรษฐกิจไทยในอีก 40 ปีข้างหน้าก็คงจะเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่าง ๆ ได้”

 ผู้ว่าธปท. ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top