BAM มั่นใจยอดเรียกเก็บหนี้ปีนี้เข้าเป้า,คาดสรุปดีลร่วมทุนแบงก์บริหาร NPL สิ้นปีนี้

นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า บริษัทคงเป้าปี 64 จะเรียกเก็บหนี้ได้ราว 17,452 ล้านบาท แม้ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและสูงมากท่ามกลางสถานการแพร่ระบาดของเชื้อวไรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างในปีนี้ โดยในไตรมาส 4/64 ยังเหลือการเรียกเก็บหนี้อีก 6,382 ล้านบาทเพื่อให้ทำได้ตามเป้าหมายทั้งปี แบ่งเป็นหนี้ NPLs จำนวน 3,639 ล้านบาท และหนี้ NPAs จำนวน 2,743 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนแรกการเรียกเก็บหนี้ยังเป็นไปตามเป้าที่ 1.1 หมื่นล้านบาท และล่าสุดตั้งแต่ต.ค.ถึงปัจจุบันผลเรียกเก็บหนี้ทำได้ใกล้เคียงกับ 2 ไตรมาสที่ระดับ 4 พันล้านบาท ดังนั้นส่วนต่างที่เหลือที่ไปถึง 6 พันล้านบาทจะได้มาจากกลยุทธ์ต่างๆที่ทำมาตั้งแต่ต้นปี ที่จะเห็นผลในช่วงปลายปี ส่วนกรณีที่พลาดการเรียกเก็บหนี้จากบางรายใน 3 ไตรมาสก็พยายามจะกลับมาทำให้ได้ในไตรมาส 4 นี้ ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาหนี้รวมกว่า 400 ล้านบาทน่าจะจบดีลได้ค่อนข้างสูง ส่วนรายกลางราว 200 ล้านบาทก็อยู่ระหว่างเจรจา

ขณะนี้การเรียกเก็บหนี้เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น เริ่มเห็นการฟื้นตัวจากเงินรอรับจากกรมบังคับคดี หลังจากกลับมาดำเนินการขายทอดตลาดตามปกติรวมทั้งมีการขายทอดตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ เพิ่มเติมในวันเสาร์ นอกจากนี้ ในปลายปีนี้บริษัทก็จะจัดมหกรรมขายทอดตลาดร่วมกับกรมบังคับคดีซึ่งจะเร่งรายได้ส่วนนี้ได้

นายรฐนนท์ ชี้ให้เห็นว่าการเรียกเก็บหนี้ NPLs ในไตรมาส 3/64 ที่เริ่มมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัว เป็นสัญญาณที่ดีต่อบริษัท โดยใช้กลยุทธ์ผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยผ่านแคมเปญ”สุขใจได้บ้านคืน”ที่โฟกัสลูกหนี้เงินต้นไม่เกิน 10 ล้านบาท ลูกหนี้ SME ไม่เกิน 20 ล้านบาท เริ่มกลับมาชำระมากขึ้นกว่า 7% รวมทั้งเพิ่มฐานลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้

ปัจจุบันพอร์ต NPLs อยู่ที่ 84,018 ล้านบาท จากต้นทุน 81,506 ล้านบาท มูลค่าหลักประกัน 186,523 ล้านบาท และยังมีที่อยู่ระหว่างการเจรจาและอยู่กระบวนการทางคดี จำนวน 76,052 ล้านบาท

สำหรับประเด็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีถึงสิ้นปีนี้นั้น หากไม่มีการต่ออายุ บริษัทเชื่อว่าทรัพย์ NPL น่าจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 65 ลักษณะค่อยๆ ปรับขึ้น

นายวีรเดช ศิริชาติไชย รองผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนองค์กร BAM กล่าวเสริมว่า แม้ว่าจะมีหนี้ NPL เข้ามามากขึ้น บริษัทก็ยังใช้นโยบาย Selective ในการคัดเลือกทรัพย์ที่มีศักยภาพด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งความต้องการซื้ออาจจะมากจนทำให้ราคาอาจเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น

นายรฐนนท์ กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนและการซื้อขาย NPLs ว่าสถาบันการเงินเริ่มนำหนี้ NPLs ออกมามากขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 64 แต่ปริมาณยกเลิกขายจากสถาบันการเงินยังคงอยู่ในระดับสูง โดยภาระหนี้เงินต้นของ NPLs ที่นำออกขายในไตรมาส 3/64 สุทธิ 6,174 ล้านบาท และมียอดสะสมในงวด 9 เดือน ที่ 14,967 ล้านบาท โดย BAM ลงทุนซื้อ NPLs ท้งหมด 626 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ SME 83% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 17%

พร้อมทั้งคาดว่าจะมีการซื้อขายหนี้มากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเบื้องต้น BAM ได้ชนะการประมูลไปบ้างแล้วในช่วงช่วงเดือน ต.ค. และอยู่ระหว่าง Due Diligence อีก 11,454 ล้านบาท

ด้านเงินทุน บริษัทอยู่ระหว่างการออกหุ้นกู้ ซึ่งมีวงเงินที่เหลือการได้รับอนุมัติอีก 3 พันล้านบาทในไตรมาส 4/64 และมีวงเงินกู้รองรับเพื่อเสริมสภาพคล่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวในระดับหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ต้นทุนการเงินในไตรมาส 3/64 เฉลี่ยที่ 2.96%

นายรฐนนท์ กล่าวถึงการร่วมทุนกับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการ NPL ว่า มีความคืบหน้าและมีสัญญาณบวก และคาดหวังว่าสรุปดีลได้ในปลายปีนี้ ส่วนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนก็ต้องดูเวลาที่เหมาะสม ส่วนที่มีกระแสข่าวที่จะมีการร่วมทุนธนาคารเพื่อบริหารสินทรัพย์ว่าเป็นการเพิ่มผู้เล่นอีก 1 ราย และจะมีการแข่งขัน ทำให้อุตสาหกรรมเกิดความคึกคัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top