BAY เพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 64 เป็นโต 1.2% ก่อนดีดตัวต่อเนื่อง 3.7% ในปี 65

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 64 มาเป็นเติบโตราว 1.2% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 0.6% เนื่องจากมีภาคส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ส่วนปี 65 คาดว่าจะเศรษฐกิจยังเติบโตต่อเนื่องได้ราว 3.7% โดยมีภาคการลงทุนช่วยสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง

“การลงทุนที่โตในระดับ 4-5% ติดกัน 2 ปี ถือว่าเป็นการเติบโตที่ดีมาก จากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับติดลบ การที่ภาคลงทุนจะเป็นพระเอก อาจไม่ใช่พระเอกที่โดดเด่นอยู่คนเดียว แต่จะทำให้คนอื่นโดดเด่นและเติบโตในระยะยาวด้วย เป็นเหมือนการส่งไม้ต่อ ซึ่งน่าจะได้เห็นผลชัดเจนในปี 66-67 ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น การบริโภคมากขึ้น” นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ระบุ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 65 มีแนวโน้มที่ GDP จะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่าง คาดว่าในปี 65 จะเติบโตราว 3.6% จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัด เนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 65 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มรายได้ และทุกสาขา จะส่งผลต่อค่าจ้างและการใช้จ่ายของแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

“ปีหน้า การเติบโตของจ้างงานอาจยังไม่กระจายตัวมากนัก รายรับของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนมีโควิด…กลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 14,000 บาทต่อเดือน อาจจะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่า ขณะที่ผู้มีรายได้มากกว่า 35,000 บาท จะฟื้นตัวได้ไวสุด”

นายสมประวิณ ระบุ

สำหรับภาคส่งออกแม้จะชะลอลงบ้าง แต่คาดว่าปี 65 จะยังเติบโตได้ 5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่ขยายตัว 2.9% โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางมากขึ้น ประกอบกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) โดยเฉพาะความตกลงหุ้นทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 65 น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะถัดไป ซึ่งจากผลการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินว่า RCEP จะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 4.9% ภายในปี 73 ซึ่งแม้เป็นรองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่สูงสุดเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน

ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าเติบโตดีขึ้นเป็น 4.6% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยหนุนให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) และการก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงบวกจากเงินลงทุนสุทธิโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทั้งปี 62 (ช่วงก่อนเกิดการระบาด) นอกจากนี้ การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะมีรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นส่วนมาก (มีสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงปี 65-69)

“การลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนและดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้า…วันนี้ เป็นโอกาสดีของการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ…เราจะเริ่มเห็น up cycle ของการลงทุน เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ไอที หรือแม้แต่ FDI ที่จะเข้ามามากขึ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ”

นายสมประวิณกล่าว

ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 60 ประเทศแบบไม่ต้องกักตัวมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 64 แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังมีข้อจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้หลายประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยยังมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน และกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ที่ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 68 ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้เร็วกว่าคือในปี 67 ที่ 160 ล้านทริป จากปี 65 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านทริป

“ภาคการท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่กว่าจะได้เห็นยอดนักท่องเที่ยวที่ 40 ล้านคนเท่าช่วงก่อนโควิด น่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี เพราะประเทศต้นทางยังไม่ปล่อยคนออกมาเต็มที่ ดูอย่างจีน เราอาจจะได้ไปเที่ยวจีนเร็วกว่าที่เห็นจีนมาเที่ยวบ้านเรา ตอนนี้ คงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศไปก่อน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพมากกว่า”

นายสมประวิณระบุ

อย่างไรก็ดี การเข้ามาของนักท่องเที่ยวในกลุ่มสุขภาพยังถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากเป็นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งมีการใช้จ่ายต่อหัวในระดับที่ค่อนข้างสูง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 65 อาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงได้ในระยะชั่วคราว โดยคาดว่าไตรมาส 1 เงินเฟ้อมีโอกาสขึ้นไปอยู่ที่ 2.8-3% แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่ากังวลใจ เนื่องจากเป็นการปรับตัวสูงขึ้นจากฐานที่ต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 64 นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ประชาชาติ ซึ่งในท้ายสุดแล้ว Real Income ยังคงเป็นบวกอยู่

“ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจมาก แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นชั่วคราว และยังต่ำกว่าระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่ม 2-3% ดังนั้น real income ก็ยังคงเป็นบวกอยู่”

นายสมประวิณ กล่าว

ทั้งนี้ จากระดับเงินเฟ้อในปีหน้าที่ยังไม่สูงมาก จึงเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดทั้งปีหน้า เนื่องจากไม่มีแรงกดดันจากด้านเงินเฟ้อ

นายสมประวิณ มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 แม้จะมีเสถียรภาพ แต่อาจจะเติบโตได้ไม่ทั่วถึงในทุกภาคส่วน ดังนั้นนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างควบคู่กันไป โดยนโยบายการคลังนั้น มองว่ารัฐบาลอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงิน อาจยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องไปก่อนจนกว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน

“เศรษฐกิจไทยปีหน้า กำลังเดินขึ้นเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกยังคงเป็นพระเอก แต่จะมีพระเอกคนที่ 2 เข้ามา อาจจะหล่อไม่เท่า แต่จะหล่อนานกว่า นั่นคือการลงทุน การลงทุนจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีหน้า สามารถทำให้เราเดินขึ้นเนินไปได้เรื่อยๆ”

นายสมประวิณ ระบุ

ขณะที่เศรษฐกิจในปี 64 คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.2% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 1.5% ปัจจัยหนุนจากการปรับดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนที่เร่งขึ้น ผนวกกับยังมีแรงส่งจากมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ทั้งปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 0.35 ล้านคน (เดิมคาด 0.15 ล้านคน) อีกทั้งการส่งออกยังเติบโตดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และการผ่อนคลายลงของภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ส่งผลให้การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวสูงที่ 16.5%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top