สธ.เผยโอมิครอนแพร่เร็ว-อาการน้อย ยันไทยยังไม่พบติดเชื้อเพิ่มจากรายแรก

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 54 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น การติดเชื้อในประเทศ 19 ประเทศ และพบการติดเชื้อเฉพาะในผู้เดินทางเท่านั้น 35 ประเทศ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย คล้ายโรคไข้หวัด และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนสถานการณ์ของประเทศต้นทางการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน อย่างประเทศแอฟริกานั้น พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตยังคงทรงตัว

สำหรับผลการสอบสวนเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ของชายสัญชาติอเมริกัน 1 ราย พบว่า วันที่ 7 ธ.ค. 64 ยังไม่พบอาการป่วยเพิ่มเติม เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และจะทำการกักตัวให้ครบ 14 วัน ทั้งนี้ จากการตรวจหาเชื้อของผู้สัมผัสใกล้ชิดกับชายสัญชาติอเมริกัน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีการตรวจหาเชื้อในวันที่ 6 ธ.ค. 64 พบพนักงานเสิร์ฟอาหารในโรงแรม 1 ราย ผลการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย RT-PCR สงสัยว่าเป็นบวก จึงมีการตรวจอีกครั้งที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 พบว่าผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ทั้งนี้ หลังจากนี้จะมีการตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกรายอีกครั้ง

ส่วนมาตรการป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์ ยังคงต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุม โดยใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และปฎิบัติตามมาตรการ VUCA ทั้งขณะเดินทางทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยว

ในขณะเดียวกัน จะทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ซึ่งหากพบกลุ่มก้อนที่มีอาการไข้หวัด หรือสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ประชาชนสามารถแจ้งหน่วยบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาล นอกจากนี้ จะมีการส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทาง หรือรายที่น่าสงสัย ไปตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย

“โอมิครอนยังเป็นสายพันธุ์ที่ไม่น่ากลัวมาก ตอนนี้ยังไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก รวมถึงการฉีดวัคซีนยังไม่มีข้อมูลออกมาชัดเจน ดังนั้นประชาชนจึงต้องฉีดวัคซีนไปก่อน ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีการแพร่เชื้อค่อนข้างเร็วมากกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 2-5 เท่า ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าถ้ามีการแพร่ระบาดจำนวนมาก และมีอาการรุนแรง อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่ายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ และมีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพียงบางรายเท่านั้น ดังนั้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอมิครอน อาจทำให้การเปิดประเทศของไทยประสบความสำเร็จ สามารถเข้าสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal ตามปกติได้เร็วขึ้น

ส่วนวัคซีนที่อาจมีประสิทธิภาพสูงสูดในการป้องกันโอมิครอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลจากแต่ละบริษัทที่ผลิตวัคซีน ทั้งนี้ วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพ สามารถลดอาการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตได้อยู่

“การระบาดของโอมิครอนอาจเป็นสัญญาณดี เนื่องจากเป็นเชื้อที่ผู้ป่วยมีอาการไม่หนัก ซึ่งในภายหลังอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ อย่างไรก็ดี ยังต้องปฎิบัติตามาตรการ VUCA ฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการป่วยหนัก และสวมหน้ากากอนามัยไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นจริงๆ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ด้านพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลต่อการรับวัคซีนโควิด-19 ว่า มีทั้งหมด 3 ช. คือ

  1. เชื่อมั่น จากการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ต่อวัคซีน จำนวน 604 ราย พบว่า 53.81% ไม่เชื่อมั่นในวัคซีน จากความกังวลเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียง และสูตรวัคซีน ส่วนอีก 46.19% มีความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน
  2. ชะล่าใจต่อสถานการณ์ จากการสำรวจพบว่า 80.89% มีการชะล่าใจ (ทั้งที่อยู่ในจังหวัดที่มีการรระบาด 51% และมีคนรู้จักติดโควิด-19 26.59%) ส่วนอีก 19.11% รู้ตัวว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  3. ช่องทางของการรับวัคซีน จากการสำรวจประเด็นด้านการเดินทางพบว่า มีความสะดวก 61.61% และไม่สะดวก 48.39% ด้านการนัดหมายสะดวก 52.94% และไม่สะดวก 47.06%

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งทำงานเชิงรุก เพื่อเข้าถึงผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้ที่เข้าถึงวัคซีนได้ยาก นอกจากนี้ยังเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้วยการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันบางโรงพยาบาลก็มีการจูงใจด้วยการให้ประชาชนสามารถเลือกฉีดวัคซีนที่ต้องการได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าชะล่าใจ และสร้างแรงจูงใจในครอบครัว พร้อมปฎิบัติตามมาตรการ VUCA คือ V (Vaccine) ฉีดวัคซีนครบ เพื่อลดการป่วยหนัก, U (Universal Prevention) ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ห่างไกลโควิด, C (Covid Free Setting) สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการพร้อม ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุกสัปดาห์ และ A (Antigen Test Kit -ATK) พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้คนติดเชื้อ หรือมีอาการทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้ที่ลังเลในการฉีดวัคซีน ให้ประสานแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือสถานพยาบาลสุขภาพใกล้บ้านเพื่อการดูแลต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top