สุพัฒน์พงษ์ ชี้การเปิดปท.ยั่งยืนเป็นความท้าทายของปี 65 มั่นใจรัฐวางรากฐานได้ดี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2022 จะไปทางไหน” ว่า รัฐบาลได้สร้างมาตรฐานในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้การเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. 64 ประสบความสำเร็จ โดยจะเห็นได้ว่าหลังการเปิดประเทศผ่านมาเพียง 1 เดือนกว่า ดัชนีเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่าย การอุปโภค-บริโภค การเข้าพักโรงแรม ฯลฯ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมาตลอด ไม่เพียงเฉพาะด้านคมนาคม ระบบขนส่งเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงระบบดิจิทัล และโทรคมนาคม ซึ่งเชื่อว่าในอีก 3-5 ปีต่อจากนี้จะเห็นความสมบูรณ์มากขึ้น

“ขอให้มั่นใจในสิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อม หลังจากที่เราควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ในระดับหนึ่งแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญ คือการต้องช่วยกันรักษาการเปิดประเทศให้ยั่งยืนที่สุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ให้กลับมาเข้มแข็ง และก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปพร้อมกับทุกคนได้” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

รองนายกฯ กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ ได้อนุญาตให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้แล้ว หลังจากที่คนไทยไม่ได้จัดงานดังกล่าวติดต่อกันมาถึง 2 ปีในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดอย่างรุนแรงในประเทศ ซึ่งในจุดนี้เชื่อว่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนประเทศเองได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย ซึ่งตามเป้าหมายของรัฐบาลแล้วต้องการเห็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น มียอดการใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น เพราะการมีนักท่องเที่ยวคุณภาพ และมียอดใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้นนี้ จะช่วยทดแทนรายได้การท่องเที่ยวที่หายไปจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะในประเทศลงได้

“นักท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามาในตอนนี้ ก็เริ่มพบว่ามียอดใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ คืออย่างน้อยใช้จ่าย 7-8 หมื่นบาท/คน เราอยากได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รายได้สูงเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในไทย” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งปี 63 และ 64 รัฐบาลได้พยายามสร้างความสมดุลทั้งในเรื่องของการดูแลด้านสาธารณสุข และการดูแลเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไป ทำให้บางครั้งมีความจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือการสั่งปิดกิจการกิจกรรมบางประเภทชั่วคราว ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ร่วมกับส่วนราชการ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในแต่ละภาคส่วนทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจต่างๆ ตามความเหมาะสม

ขณะที่สิ่งที่ท้าทายสำหรับปี 65 คือการรักษาระยะของการเปิดประเทศไว้ให้ได้นานที่สุด ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ล่าสุดมีสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลได้เร่งรัดให้ประชาชนในประเทศเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ได้ตามเป้าหมาย และเป็นที่น่ายินดีว่าจะมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 100 ล้านโดสได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในสิ้นปีนี้ ส่วนในปี 65 รัฐบาลได้เตรียมแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดไว้ที่ 120 ล้านโดส ซึ่งได้มีการลงนามจัดซื้อไว้แล้ว 90 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 30 ล้านโดสยังอยู่ระหว่างการเจรจา

“ถ้าสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง ก็เชื่อว่าวัคซีนในปี 65 ทั้ง 120 ล้านโดส น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้เป็นบูสเตอร์ การเปิดประเทศอย่างยั่งยืนในปี 65 จำเป็นต้องเดินหน้าร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐก็เตรียมพร้อมในเรื่องการจัดหาวัคซีน การดูแลรักษาความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก เช่น มาตรฐาน SHA ซึ่งในอนาคตธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะมีสมาชิก SHA มากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ โอมิครอนไม่รุนแรง การเปิดประเทศทำได้ต่อเนื่อง ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกลุ่มเปราะบางมีโอกาสฟื้นตัว สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ใกล้เคียงเดิม ซึ่งตอนนี้เริ่มจะเห็นสัญญาณที่เป็นบวก” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในส่วนของภาคการส่งออก และการลงทุนจะเห็นได้ว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศในฝั่งตะวันตกเริ่มฟื้นตัว จึงส่งผลให้มีความต้องการบริโภคสินค้ามากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยดีขึ้นตาม และต่อเนื่องไปถึงภาคการผลิตที่มีการขยายกำลังการผลิตสินค้าเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพที่ดีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอาหาร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมตั้งแต่ต้นปี-พ.ย.นี้ มีมูลค่ารวมเกือบ 6 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเชื่อว่าตลอดทั้งปี 64 จะมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเกิน 6 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าบางปีในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดด้วยซ้ำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top