ค้าปลีกเผยโควิดดันยอดขายออนไลน์-เดลิเวอรี่โตพุ่งพรวดส่งผลตลาดเปิดกว้างขึ้น

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอร์รี่ เผยว่า ปัจจุบันเซเว่น อีเลฟเว่น มีจำนวนสาขารวมกว่า 13,000 สาขา เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกให้กับลูกค้าทั่วประเทศ เราจึงมีการเปลี่ยนจาก Food Store มาสู่ All Convenience เพื่อบริการความสะดวกให้กับทุกคน และเมื่อโลกเปลี่ยน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน วิถีชีวิตคนเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คู่แข่งเปลี่ยน การทำธุรกิจจึงต้องสร้างสรรค์บริการใหม่ๆเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า

โดยเฉพาะเมื่อโลกต้องเจอกับมรสุมทางเศรษฐกิจและเกิดโรคระบาดโดยเฉพาะโควิด-19 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ New Normal หรือ ‘ความปกติใหม่ หรือ ฐานวิถีชีวิตใหม่’ นั่นหมายถึงการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ ด้วยเหตุนี้เอง ส่งผลให้บริการ ALL Online ที่ประกอบด้วยสั่งสินค้าผ่านบริการ 7 Delivery, 24 Shopping, 7-Eleven.TH Application สามารถตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ ได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้มียอดการขาย All Online รวม 10 เดือนของปี 2564 กว่า 21,237 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดขายจะเติบโตจากปีที่ผ่านมา 300%

ด้านนายจักรกฤษณ์ จตุปัญญาโชติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปจากเดิม คือ ลดการเดินทาง ใส่ใจความปลอดภัยและเว้นระยะห่างทางสังคม จนกลายเป็นเรื่องคุ้นชิน ซึ่งทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งถึงบ้าน หรือโทรศัพท์สั่งสินค้าแล้วมารับที่สาขา เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยที่ผ่านมาแม็คโครเห็นแนวโน้มการเติบโตในช่องทางออนไลน์-ส่งถึงบ้าน เพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่า กลุ่มลูกค้ามีทั้งผู้ประกอบการโชห่วย ผู้ประกอบการร้านอาหารที่หันมาทำบริการอาหารกล่องเดลิเวอรี่มากขึ้นในช่วงนี้ รวมทั้งลูกค้าทั่วไปที่ต้องการวัตถุดิบอาหารคุณภาพดี ในราคาผู้ประกอบการ โดยกลุ่มสินค้าขายดี คือ สินค้าอาหารสด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาทิ กาแฟ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้

ถึงแม้ตลาดอีคอมเมิร์ซโต ทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มเติบโตด้วย โดย Shopee และ Lazada มีจำนวนผู้เข้าใช้งานมากสุดคือ สูงถึง 51 ล้านรายและ 33 ล้านรายต่อเดือน ตามลำดับ รวมแล้วเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของการใช้อีคอมเมิร์ซทั้งประเทศ แต่ถึงอย่างนั้น การแข่งขันดุเดือด ทำให้แต่ละรายต้องใช้เงินมหาศาลไปกับการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มยังคงขาดทุน และมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องในช่วงที่ยังไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน

ในขณะที่ผู้เล่นในธุรกิจค้าปลีกยังคงทำกำไร และกำลังเข้าสู่ออนไลน์ และยอดขายไม่ได้แตกต่างกัน ทำให้เวทีนี้เปิดโอกาสสำหรับทุกผู้เล่นในตลาด ดังนั้น เมื่อโลกออนไลน์กำลังมาแข่งกับออฟไลน์ และ ผู้เล่นที่เคยอยู่ในโลกค้าปลีกออฟไลน์ จะขึ้นไปแข่งกับผู้เล่นออนไลน์ ทำให้ตลาดกว้างขึ้น และ เป็นโอกาสสำหรับคนที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top