พาณิชย์ เผยภาพรวมใช้สิทธิ FTA และ GSP ช่วง 9 เดือนปี 63 ลดลง 14.76%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย.63 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 45,609.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 76.27%

แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 42,337.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 14.76%

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 42,337.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.85% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 76.68% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 14,445.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 13,636.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,858.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,765.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,373.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (100%) 2) อาเซียน-จีน (91.27%) 3) ไทย-เปรู (86.49%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (82.24%) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (71.62%) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ (ลำไย เงาะ ลางสาด) รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มันสำปะหลัง เป็นต้น

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วงม.ค.-ก.ย.63 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 2.44% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71.30%

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,905.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.63% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71.78% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 238.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.19% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 60.55% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่

อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 102.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.30% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 81.74% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 24.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 33.96% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 100% สินค้าส่งออกสำคัญ

อาทิ อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพดหวาน ข้าว สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง อาทิ สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง พืชและผลไม้ปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เลนส์แว่นตา ล้อและส่วนประกอบของยานยนต์ เป็นต้น

นายกีรติ กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่า สินค้าที่เติบโตต่อเนื่องและเป็นดาวเด่นของการส่งออกไทยยังคงเป็นสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป โดยสามารถส่งออกไปยังหลายตลาดที่ไทยมีความตกลงฯ อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ซ

เช่น นม นมถั่วเหลือง (อาเซียน) น้ำตาลที่ได้จากอ้อย (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน, ไทย-ชิลี) เนื้อ เครื่องใน หรือเลือดของไก่ (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี ) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) มะนาวฝรั่งและมะนาว (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ขนมปัง เพสทรี เค้ก บิสกิตและขนมจำพวกเบเกอรี่ (อาเซียน-ญี่ปุ่น)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top