In Focus: “Clubhouse” เสรีภาพในการพูด ส่อสร้างปัญหาละเมิดสิทธิผู้อื่น

นาทีนี้แทบทุกคนคงเคยได้ยินชื่อ Clubhouse ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว Clubhouse คือแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่รองรับการสื่อสารด้วยเสียงเท่านั้น ไม่มีข้อความ ไม่มีรูปภาพ ไม่มีวิดีโอ เมื่อดาวน์โหลดแอปแล้ว ผู้ใช้งานต้องได้รับคำเชิญ (Invite) จากผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้วจึงจะเริ่มใช้งานได้ โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างห้องขึ้นมาเพื่อเปิดประเด็นพูดคุยและควบคุมห้องของตนเอง รวมถึงเพิ่มผู้ควบคุมห้องร่วมกับตนเองได้ หรือเข้าไปเป็นผู้ฟังในห้องที่คนอื่นสร้างไว้แล้ว ซึ่งหากมีคำถามหรือต้องการแสดงความคิดเห็น ก็สามารถกดปุ่มยกมือ (Raise Hand) เพื่อขอโอกาสในการพูดได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถคลิกดูโปรไฟล์ของผู้พูด และตามไปกด Follow ได้ด้วย

โด่งดังเพราะคนดัง

Clubhouse ก่อตั้งขึ้นในเดือนเม.ย. 2563 โดยบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ Alpha Exploration ด้วยฝีมือของสองนักพัฒนาอย่าง พอล เดวิสัน และ โรฮาน เซ็ธ โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับการพบปะผู้คนจากทั่วโลกและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนสร้างประสบการณ์ทางสังคมที่มี “ความเป็นมนุษย์” มากขึ้น เพราะน้ำเสียงของผู้พูดสามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าการพิมพ์เป็นตัวอักษร โดยในช่วงแรก Clubhouse มีสมาชิกผู้ใช้งานเพียงพันกว่าคนเท่านั้น ต่อมาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะบรรดานักลงทุนและนักเทคโนโลยีจากซิลิคอนแวลลีย์ได้เข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในช่วงล็อกดาวน์

แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Clubhouse โด่งดังเป็นพลุแตกจริง ๆ ก็คือ การที่สองคนดังแห่งวงการเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา และ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก เข้ามาใช้งาน Clubhouse ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. อีลอน มัสก์ ได้เข้ามาพูดคุยเรื่องการพามนุษย์ไปดาวอังคาร รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลและโควิด-19 จากนั้นก็สร้างความฮือฮาด้วยการพูดคุยกับ วลาด เทเนฟ ซีอีโอของโรบินฮูด บริษัทโบรกเกอร์ออนไลน์ที่ให้บริการซื้อขายหุ้นผ่านแอปพลิเคชัน เกี่ยวกับปรากฏการณ์หุ้น GameStop ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ช่วยดันยอดดาวน์โหลดแอป Clubhouse พุ่งขึ้นนับล้าน ต่อมาในวันที่ 4 ก.พ. มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ได้เข้ามาใช้งาน Clubhouse เช่นเดียวกัน หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าเฟซบุ๊กเตรียมพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่มีรูปแบบการใช้งานคล้ายคลึงกับ Clubhouse แต่เฟซบุ๊กอ้างว่ามีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีเสียงมาให้บริการเป็นเวลานานหลายปีแล้ว

ชุมชนเอ็กซ์คลูซีฟ

การเข้าใช้งาน Clubhouse ไม่ง่ายเหมือนแอปทั่วไปที่ดาวน์โหลดและลงทะเบียนก็ใช้งานได้เลย เพราะผู้ใช้งานต้องได้รับคำเชิญจากผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนจึงจะเริ่มใช้งานได้ ซึ่งในเบื้องต้นสมาชิกแต่ละคนสามารถส่งคำเชิญให้เพื่อนได้แค่ 2 คนเท่านั้น ขณะเดียวกัน ห้องแชทหนึ่งห้องสามารถรองรับผู้ฟังได้สูงสุดเพียง 5,000 คน และห้องจะหายไปเมื่อกดปิดห้อง (End Room) โดยไม่สามารถฟังย้อนหลังได้ ดังนั้น การได้เป็นส่วนหนึ่งของ Clubhouse โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เข้าไปฟังในห้องของบรรดาคนดัง จึงถือว่าเอ็กซ์คลูซีฟไม่ใช่น้อย จนถึงขั้นมีการซื้อขายโค้ดเชิญเข้าใช้งาน Clubhouse กันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาแอปยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจทำให้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่า Clubhouse ยังเป็นแพลตฟอร์ม Beta จึงยังไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานได้เต็มที่ และในขณะเดียวกันก็อยากให้ชุมชนแห่งนี้เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วย

เสรีภาพเกินควบคุม

Clubhouse เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสร้างห้องเพื่อพูดคุยได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่การเมือง การเงิน การศึกษา การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี และอีกมากมาย ไม่ต่างจากงานสัมมนาที่ผู้ฟังสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวความรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ดาบย่อมมีสองคม เพราะการที่ Clubhouse ให้อิสระแก่ผู้สร้างห้องและผู้ควบคุมห้องในการกำกับดูแลการสนทนาด้วยตัวเอง รวมถึงการที่ตัวแอปไม่มีการบันทึกไฟล์เสียงเก็บไว้ และไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานบันทึกเสียง ได้เปิดช่องให้การพูดคุยเป็นไปอย่างอิสระเสรี และผู้ใช้งานบางส่วนก็ใช้เสรีภาพนี้ไปในทางที่ไม่ถูกต้องจนส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น มีการสร้างห้องสนทนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับรากศัพท์ของคำว่าต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism) แต่สุดท้ายกลับมีการพูดจาแสดงความเกลียดชังหลายต่อหลายครั้งตลอดการสนทนาร่วม 3 ชั่วโมง หรือการสร้างห้องสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อการร้ายในปารีส ก็มีการแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างความเกลียดชังชาวมุสลิม เป็นต้น

ภาพ:รอยเตอร์

ขณะเดียวกัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งที่เข้ามาใช้งาน Clubhouse ก็สัมผัสได้ถึงการแสดงความเกลียดชังเพศหญิง เช่น การพูดหักหน้า ไม่ให้โอกาสพูด หรือใช้ถ้อยคำและน้ำเสียงคุกคาม จนหลายคนตัดสินใจลบแอปทิ้ง บางส่วนรู้สึกว่า Clubhouse ไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง จนกว่าจะมีการควบคุมเนื้อหาการพูดคุยที่ดีกว่านี้ และมีบทลงโทษที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นอกจากนี้ Clubhouse ยังกลายเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ผลิตจากเซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์ หรือแม้กระทั่งโรคโควิด-19 ไม่มีอยู่จริง เป็นต้น

ในบ้านเกิดอย่างสหรัฐอเมริกา Clubhouse ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมและป้องกันการใช้งานในทางที่ผิด ดังนั้น ในประเทศจีนซึ่งมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดกว่ามากนั้น Clubhouse จึงไม่รอดพ้นจากการถูกแบน เนื่องจากจีนมองว่า Clubhouse ให้เสรีภาพในการพูดมากเกินไปจนคุกคามความมั่นคงของประเทศ โดยในช่วงแรกที่ Clubhouse ยังไม่โด่งดังและไม่ถูกเซ็นเซอร์นั้น ผู้ใช้งานในจีนอาศัยช่องโหว่นี้ในการพูดคุยประเด็นการเมืองต้องห้ามกันอย่างสนุกปาก เช่น การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ไต้หวันควรได้รับเอกราชจากจีนหรือไม่ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ยกตัวอย่างห้องที่สร้างขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปีพ.ศ. 2532 ก็มีผู้ฟังเต็มอัตรา 5,000 คน แต่สุดท้าย Clubhouse ก็ถูกรัฐบาลจีนบล็อกเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้ Clubhouse ยังเป็นแพลตฟอร์ม Beta ที่ยังไม่เปิดให้ใช้งานเต็มรูปแบบ และรองรับเฉพาะระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้น แต่ก็มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว และนักพัฒนามีแผนว่าจะเปิดให้ผู้ใช้งาน Android เข้ามาใช้ได้เช่นกันในอนาคต เมื่อถึงเวลานั้น Clubhouse จะมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกไม่ให้กระทบต่อผู้อื่นจะเป็นความท้าทายสำคัญที่ Clubhouse ต้องรับมือ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top