FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนร้อนแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากวัคซีนหนุน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.พ.64 พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 152.19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม นักลงทุนคาดหวังการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 จากการที่ไทยได้รับวัคซีนล็อตแรกเป็นปัจจัยหนุนหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ FETCO Investor Confidence Index ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.64) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (ช่วงค่าดัชนี 120 -159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 152.19

ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” กลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหล็ก (STEEL)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจากการได้รับวัคซีน
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจ ณ เดือน ก.พ.64 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 2.3% อยู่ที่ระดับ 140.74 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 8.6% อยู่ที่ระดับ 114.29 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ระดับ 129.41 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.7% อยู่ที่ระดับ 183.33

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ FETCO กล่าวว่า ปัจจัยที่จะสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ดีที่สุดจะเป็นเรื่องของการคลี่คลายการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำเข้าวัคซีนในล็อตแรก โดยหากให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมจัดหาวัคซีนด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะการที่ได้วัคซีนมาเร็วจะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อการเปิดประเทศในอนาคต รองลงมาจะเป็นเรื่องของการไหลเข้ามาของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ขณะที่ปัจจัยที่จะลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังคงต้องจับตามองปัจจัยจากต่างประเทศ ทั้งในสถานการณ์โควิดและวัคซีนในแต่ละประเทศ รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.64 SET index มีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 1,478.05-1,523.11 โดยมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 หดตัว -6.1% จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมยังคงอ่อนแอ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือน FTSE Russell ประกาศลดสัดส่วนหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี

อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนโดยรวมยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง การมาถึงของวัคซีน”ซิโนแวก” ลอตแรก และการที่มีนักลงทุนรายใหม่เปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากเกือบแสนบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ OR ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ณ สิ้นเดือน ก.พ. SET Index ปิดที่ 1,496.78 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.03% จากเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยคลาย Lock Down ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาหลังจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และผลการประชุมของ 3 ธนาคารกลางหลัก (Fed, ECB และ BoJ) หลัง Bond Yield ในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ กระบวนการแจกจ่ายวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามซึ่งหากไม่ได้รับความเห็นชอบ อาจส่งผลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน มี.ค.64 ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือน ก.พ.อยู่ที่ระดับ 47 เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือน มี.ค.นี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว และ คาดว่า ธปท. ยังต้องติดตามการขยายตัวเศรษฐกิจ และมาตรการการคลังที่จะออกในปีนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “เพิ่มขึ้น (Increase)” โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากครั้งก่อนจากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.89% และ 1.50% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 ก.พ. 64) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึง Fund Flow ต่างชาติเป็นหลัก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top