ไทย-จีน ผนึกกำลังพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและอีคอมเมิร์ซ เพิ่มศักยภาพเกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากนายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะว่า การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี

ได้แก่ ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการ การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟเชื่อมระหว่าง ไทย-ลาว-จีน และ ไทย-เวียดนาม-จีน การขยายความร่วมมือด้านตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ อาทิ JD Alibaba (TAPBAO Tmall) Lazada และ Shopee เป็นต้น

รวมทั้งความร่วมมือในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ซึ่งขณะนี้มี 8 กลุ่มจังหวัดที่เริ่มและอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ เพื่อรองรับการลงทุนจากผู้ประกอบการจีน เช่น นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60%โดยฝ่ายจีนยืนยันพร้อมสนับสนุนการลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และยังเสนอที่จะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น การศึกษาดูงานของผู้นำเกษตรกรไทยในจีน การศึกษาดูงานด้านเกษตรกรอัจฉริยะ การสัมมนาการจับคู่ผู้ประกอบการ โครงการฝึกอบรม ฯลฯ

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำเสนอโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง และส่งเสริมกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ ได้รับงบสนับสนุนดำเนินโครงการแล้วทั้งหมด 7 โครงการ ในวงเงินราว 60 ล้านบาท และครั้งล่าสุด เมื่อปี 2563 ได้เสนอโครงการจำนวน 8 โครงการ โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือนี้ และพร้อมที่จะดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกทุกประเทศเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคนี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จะหารือต่อเนื่องในการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-จีน ครั้งที่ 12 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกำหนดการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จีนเป็นพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ไทย โดยในปี 2563 ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท แม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจัยความสำเร็จที่ผ่านมา คือความร่วมมืออย่างดียิ่งระหว่างไทยกับจีน และการทำงานภายใต้โมเดล “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายร่วมระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรแลtสหกรณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบผลิตจนถึงผู้บริโภคด้วยนโยบาย “เกษตรปลอดภัย อาหารปลอดภัย” สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วยมาตรฐาน GAP, GMP, Organic, Halal และ Q เป็นต้น

รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ซึ่งมี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564-2566 เพื่อเป็นกรอบในการทำงานเน้นการเทคโนโลยีมากขึ้นในยุค 4.0 และในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและรสชาติอร่อย และได้มีการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพผลไม้ไทย อาทิ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จากฟาร์มถึงผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (O2O model) การพัฒนาการอำนวยความสะดวก (Facilitation) บริเวณด่านส่งออก 4 ด่าน ได้แก่ ด่านโมฮ่าน ด่านโหยวอี้กวน ด่านตงชิงและด่านผิงเสียง ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการโลจิสติกส์เกษตร (Logistic) ที่มีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตร เป็นประธาน กำลังจัดทำแผนพัฒนาเส้นทางขนส่งทางรถไฟ โดยจะเชื่อมระหว่างไทย-ลาว-จีน และไทย-เวียดนาม-จีน

สำหรับสถิติการส่งออกผลไม้สดไปจีน ปี 2563 ไทยส่งออกไปในปริมาณรวม 1,624,000 ตัน มูลค่า 102,800 ล้านบาท โดยผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก คือ 1. ทุเรียน 620,000 ตัน มูลค่า 66,000 ล้านบาท 2. ลำไย 378,000 ตันมูลค่า 14,400 ล้านบาท 3. มังคุด 287,000 ตัน มูลค่า 15,700 ล้านบาท 4. มะพร้าวอ่อน 270,000 ตัน มูลค่า 4,900 ล้านบาท และ 5. ขนุน 22,700 ตัน มูลค่า 400 ล้านบาท ในส่วนของทุเรียนเป็นผลไม้สดที่จีนนำเข้ามากที่สุดในปี 2563 คิดเป็น 23% ของปริมาณการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทั้งหมดของจีน โดยไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่จีนอนุญาตให้นำเข้าผลทุเรียนสด

“ประเทศไทย สามารถขยายการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตร ผ่านด่านตงซิงและด่านผิงเสียงที่เปิดใหม่ได้ ช่วยลดปัญหาและอุปสรรคการขนส่งสินค้าไปจีน และช่วยขยายความร่วมมือการค้าของทั้งสองประเทศ และหากสามารถเปิดในรูปแบบ Green lane ตรวจปล่อยสินค้าบริเวณด่านการค้าพิเศษ และเขตฟรีโซนหนานหนิง จะทำให้การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพ จึงได้ขอให้ฝ่ายจีนติดตามความก้าวหน้าการอนุญาตนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านใหม่ หากสามารถเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว จะลดความแออัดบริเวณด่านโหย่วอี้กวนในช่วงฤดูกาลการส่งออกทุเรียนของปีนี้”

นายอลงกรณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (7 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top