“ทางยกระดับดอนเมือง” เตรียมขาย IPO 140 ล้านหุ้น-เข้าเทรด SET 7 พ.ค.ระดมทุนกว่า 2 พันลบ.

นายวรวัสส์ วัสสานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ DMT แล้ว ลำดับต่อไปจะเป็นขั้นตอนการรอนุมัติไฟลิ่งมีผลบังคับใช้ (Filing effective) และจะเริ่มเดินสายให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่าง โดยคาดว่าจะเสนอขาย IPO ในช่วงปลายเดือน เม.ย. 64 และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 7 พ.ค. 64 ซึ่งจะเน้นการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่

สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนของ DMT ในครั้งนี้จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 1.35 พันล้านบาท และหนี้ระยะสั้น 330 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงานราว 300-400 ล้านบาท คาดว่าจะระดมเงินทุนได้ราว 2 พันล้านบาท

โดย DMT มีทุนจดทะเบียนจำนวน 6,142.4 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 5,414.4 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วก่อนการเสนอขาย IPO ทั้งหมด 1,041.2 ล้านหุ้น โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 140 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 11.85 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้

สำหรับความน่าสนใจของ DMT นั้นเป็นเรื่องของโอกาสทางธุรกิจหลังจากนำเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ไปชำระคืนหนี้ที่มีดอกเบี้ยทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทปลอดหนี้ที่มีดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่หายไปราว 4.5 ล้านบาท/เดือน ทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น และมีความสามารถในการกู้ยืมมากขึ้น เพื่อมาต่อยอดในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ที่บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลในอนาคตที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตของธุรกิจ

ขณะที่เส้นทางสัมปานของดอนเมืองโทลเวย์ 21 กิโลเมตร ในปัจจุบันยังคงเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน และการเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งหลังจากการการท่องเที่ยวกลับมาเปิดเป็นปกติแล้ว เส้นทางของบริษัทที่ได้รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบันจะมีจำนวนรถที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนผลการดำเนินงานให้เติบโตต่อเนื่อง

นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ DMT เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนและคุ้มค่า ซึ่งจากแผนงานการก่อสร้างโครงข่ายเส้นทางถนนต่างๆ ของภาครัฐตามแผนงานของภาครัฐในช่วงปี 60-79 ระยะทางรวม 6,000 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้วเพียง 600 กิโลเมตร ทำให้ยังมีโอกาสอีกมากในการที่บริ๋ษัทจะเข้าร่วมประมูลในเส้นทางที่มีศักยภาพใหม่ๆที่ภาครัฐจะเปิดประมูลออกมาในรูปแบบ PPP โดยที่ในช่วงปี 64-65 บริษัทมีความสนใจเข้าร่วมประมูลสัมปทาน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 244 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการ M5 รังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร โครงการ M8 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร โครงการ M9 บางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กิโลเมตร โครงการ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร และโครงการทางพิเศษกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 44 กิโลเมตร

ส่วนสัมปทานเส้นทางปัจจุบัน คือ ถนนวิภาวดี-รังสิต รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร มีอายุสัมปทานเหลืออีก 13 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่ไม่สั้นมาก จึงมีเวลาที่บริษัทจะเตรียมความพร้อมขยายธุรกิจออกไปในการลงทุนใหม่ๆจากการเข้าประมูลโครงการต่างๆ ซึ่งการระดมทุนในตลาดหลีกทรัพย์ครั้งนี้จะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพให้กับบริษัทในการเตรียมความพร้อมเข้าลงทุนในโครงการใหม่ๆได้มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันได้เช่นเดียวกัน

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเดินทางสัญจรลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง ทำให้ปี 63 มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันของทางยกระดับดอนเมืองช่วงดินแดง–ดอนเมือง อยู่ที่ 58,140 คัน/วัน ลดลงจากปี 62 ที่มีจำนวน 92,914 คัน/วัน และช่วงดอนเมือง–อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อยู่ที่ 37,143 คัน/วัน จากเดิมปี 62 ที่มีจำนวน 54,376 คัน/วัน

นายศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ผลประกอบการปี 63 ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยบริษัทมีรายได้จากการค่าผ่านทางรวม 2.04 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 791 ล้านบาท ซึ่งมองว่าปี 63 ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันถือเป็นจุดต่ำสุดที่ 95,000 คัน/วัน และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 64 หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปบ้าง แต่ถือว่าในช่วงเดือน ม.ค. 64 ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เข้ามา 14 เดือน และหลังจากนั้นก็เริ่มฟื้นตัวกลับมา ซึ่งมองว่าปริมาณการจราจรในปี 64 จะปรับเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยในระดับ 100,000 คัน/วัน

อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณการจราจรที่ใช้บริการเส้นทางของดอนเมืองโทลเวย์จะกลับมาสู่ระดับปกติเฉลี่ย 150,000 คัน/วัน ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี หรือภายในปี 66-67 จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นกลับมาได้เต็มที่ และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา ทำให้คนเริ่มมีการเดินทางมากขึ้น หลังจากที่โควิด-19 สิ้นสุดลงไปแล้ว ซึ่งหากปริมาณการจราจรกลับมาสู่ระดับปกติได้ จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทนั้นกลับมาสู่ระดับ 3 พันล้านล้าน เช่นเดียวกับที่เคยทำได้ในปี 61

ทั้งนี้ในแง่ของศักยภาพและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นหลังจากเสนอขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว คาดว่าจะมีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น จากการเป็นบริษัทที่ปลอดหนี้ที่มีดอกเบี้ย ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยหายไป โดยมีอัตรส่วนหนี่วสินที่มีดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/Equity) ลดลงเหลือเกือบ 0 เท่า จากปีก่อนที่ 0.3 เท่า และมีกระแสเงินสดที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการลงทุนอื่นๆเข้ามาเสริมศักยภาพการเติบโตของบริษัทในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top