น้ำมัน WTI ปิดบวก 31 เซนต์ รับแนวโน้มดีมานด์สดใส-ข้อมูลศก.แข็งแกร่ง

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (15 เม.ย.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมี.ค.

  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 63.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.ปีนี้
  • สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 36 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 66.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.ปีนี้
  • สัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ต่างก็ได้แรงหนุนจากการที่ IEA ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ขึ้นอีก 230,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ครั้งก่อน โดยคาดว่า อุปสงค์น้ำมันอาจเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปี 2563 เป็น 96.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้

ทางด้านกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้อีก 100,000 บาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นราว 6 ล้านบาร์เรลต่อวันแตะ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และโอเปกยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จาก 5.1% เป็น 5.4% ด้วย

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 9.8% ในเดือนมี.ค. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.9% หลังจากที่ปรับตัวลง 2.7% ในเดือนก.พ.

โดยการดีดตัวขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือนมี.ค.เป็นผลมาจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรงคนละ 1,400 ดอลลาร์ รวมถึงสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในวงกว้าง

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 576,000 รายในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 710,000 ราย

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค. หลังจากที่ลดลง 2.6% ในเดือนก.พ. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top