ราชทัณฑ์เผยผู้ต้องขังกว่า 2 พันคนติดโควิด ยันคุมได้-รักษาตามมาตรฐาน

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำ และมีการปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์การรักษาผู้ติดเชื้อหรือไม่ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีการกระจายเป็นวงกว้างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงเรือนจำและทัณฑสถานที่ต้องรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และนำผู้ต้องขังออกจากศาลอยู่เสมอ จึงอาจมีการหลุดรอดของเชื้อเข้าสู่เรือนจำได้

อย่างไรก็ดี กรมราชทัณฑ์ได้ป้องกันอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการเชิงรุก คือ แยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ก่อนผู้ต้องขังพ้นระยะแยกกักโรค ซึ่งการตรวจพบการติดเชื้อของผู้ต้องขังที่ผ่านมา ถือว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ

สำหรับผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อ จะได้รับการรักษาโดยให้ยา Favipiravia ทั้งในโรงพยาบาลสนามเรือนจำ และโรงพยาบาลแม่ข่ายตามลักษณะอาการของป่วยของแต่ละราย โดยกรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เรือนจำทัณฑสถานทุกแห่งมีมาตรการอย่างเคร่งครัด เพราะมีการควบคุม บับเบิ้ลแอนด์ซีล เช่น กรณีเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อก็สามารถดูแลรักษาจนหาย และไม่มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในเรือนจำอีก

กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจเชิงรุกเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง 100% ซึ่งได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของเรือนจำ/ทัณฑสถาน ที่พบการติดเชื้อ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงกลาง มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,795 ราย ซึ่งทุกรายอยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หากในบางรายมีอาการหนักจะได้มีการย้ายออก เพื่อรับการรักษายังโรงพยาบาลภายนอก เชื่อว่ามาตรฐานการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์กับกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่ขยายตัวไปสู่วงกว้างได้

เวลานี้ได้มีแดนกักโรค และโรงพยาบาลสนาม โดยมีแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด และการให้ยารักษาและการดูแลทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานของสาธารณสุข รวมทั้งมีการวางแผนเพื่อฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังด้วย อยู่ระหว่างรอการจัดสรรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ในเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ซึ่งในส่วนของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ไปแล้วกว่า 17,000 ครั้ง ทำให้คัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาได้รวดเร็ว สามารถแยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกมากักตัวเพื่อสังเกตอาการได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องขอบคุณกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามาช่วยดูแล และทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top