ศบค.ไฟเขียวต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 2 เดือน สิ้นสุด 31 ก.ค.

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ มีมติเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เป็นครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 64 เพื่อควบคุมโรคเป็นหลัก

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ศบค.เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ทั้งจากทั่วโลก ในประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์ในประเทศยังมีความน่ากังวล ซึ่งมาจากแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ท่อหายใจเพิ่มขึ้น การปล่อยข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความกลัวต่อการฉีดวัคซีน และในช่วงวันที่ 24-28 ก.ค.64 เป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนจำนวนมาก เพื่อกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเห็นว่า มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดจึงยังมีความสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค.ชุดใหม่ มีมติอนุมัติมาตรการป้องกันโรคในการจัดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ประจำปี ครั้งที่ 1 โดยให้มีการสวมใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดการประชุม ยกเว้นในกรณีที่ผู้ควบคุมการประชุมจะผ่อนผันในช่วงที่มีการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุม และกำหนดให้นั่งห้องประชุมเว้นระยะห่าง 2 เมตร ให้ส.ส.และส.ว. มีผู้ติดตามได้ 1 คนเท่านั้น งดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ และขอความร่วมมือให้ข้าราชการรัฐสภา ฉีดวัคซีนทุกคน 100% โดยหากผู้ใดไม่ฉีดวัคซีนจะไม่อนุญาตให้เข้าห้องประชุม (เว้นแต่มีเหตุจำเป็น) และมอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัดสรรวัคซีนให้กับคนที่ทำงานในรัฐสภา จำนวน 2,000 โดส โดยฉีดในช่วง 21-25 พ.ค.นี้

โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบตามที่ ศปก.ศบค. อนุมัติเรื่องการเลื่อนการเปิดเทอมออกไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และไม่อนุญาตให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไซต์ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด 17 จังหวัด ให้ใช้อาคารได้แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และให้จัดการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ ออนไซต์ได้ ส่วนพื้นที่ควบคุม 56 จังหวัดให้จัดการเรียนการสอนได้ ให้มีการรวมกลุ่มคน แต่จะต้องมีการกำหนดมาตรการ หรือจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้

ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้นำเสนอการวางแผนมาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 14 มิ.ย. โดยย้ำให้สถานศึกษาต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด ขณะเดียวกัน โรงเรียนจะต้องมีการประเมินความพร้อม Thai Stop Covid ที่เป็นแบบประเมินตนเองเพื่อให้โรงเรียนต่างๆ มั่นใจต่อผู้ปกครองและนักเรียนว่า จะดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลและส่วนภาพรวมได้ และหลังจากประเมินแล้วขอให้ทางโรงเรียนขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เพื่อเปิดเรียนอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top