ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,680 ราย ในปท. 1,457-ตรวจเชิงรุก 1,212-ตปท. 11,ตาย 35

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 185,228 คน (+2,680)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,457 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 932 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 280 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 11 ราย
  • รักษาหายแล้ว 136,252 คน (+4,253)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 47,644 คน (-1,608)
  • เสียชีวิตสะสม 1,332 คน (+35)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,680 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,457 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 932 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 280 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย โดยยังคงมีการลักลอบเข้าเมืองมาทางช่องทางธรรมชาติ จากกัมพูชา 1 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 11 ราย อายุระหว่าง 42-89 ปี โดยมาจากกทม. 26 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 185,228 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 136,252 ราย เพิ่มขึ้น 4,253 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,332 ราย

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นพื้นที่ที่มีรายงานพบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 1,096 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 26 ราย รองลงมา สมุทรปราการ พบผู้ป่วยใหม่ 491 ราย, นนทบุรี 132 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 91 ราย

สำหรับในกรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังรวมทั้งหมด 70 แห่ง จากทั้งหมด 35 เขต ซึ่งล่าสุด พบคลัสเตอร์ใหม่ที่เขตดินแดง คือ ประยุกต์สปอร์ต ซัพพลาย ได้ตรวจพนักงาน 120 ราย พบติดเชื้อ 54 ราย ซึ่งมีทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ และดำเนินการปิดบริษัทตั้งแต่ 4-18 มิ.ย. โดยผู้ป่วยได้ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว

พญ. อภิสมัย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงตรวจตามแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ โดยจะเน้นไปที่แคมป์คนงานก่อสร้างที่มีคนงานมากกว่า 100 ราย เพื่อทำการสุ่มตรวจ RT-PCR รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และแรงงาน ถึงมาตรการต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและแพร่ระบาด ซึ่งถ้าสามารถติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดได้ ก็จะทำให้สถานการณ์ในกทม.ดีขึ้น โดยปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต มีแคมป์คนงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 409 แห่ง มีแรงงานกว่า 62,000 คน

นอกจากนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ยังแสดงความเป็นห่วงการระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งจากคลัสเตอร์คอนโดมิเนียมที่เคยรายงานไปก่อนหน้านี้ ยังมีการรายงานเพิ่มเติมที่ชุมชนเคหะตลาดบางพลี, โรงน้ำแข็ง, โรงงานอลูมิเนียม, แคมป์ก่อสร้าง และชุมชนวัดราษฎร์โพธิ์ทอง ซึ่งในภาพรวมแล้วยังมีการระบาดอยู่ในทุกอำเภอของ จ.สมุทรปราการ ซึ่งต้องเน้นย้ำไปยังประชาชนและที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรปราการ เพราะยังพบมีการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ขณะที่ จ.นนทบุรี การระบาดยังอยู่ใน 3 อำเภอหลัก คือ แคมป์คนงานก่อสร้างที่มีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ส่วนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ การระบาดในโรงงานสับปะรดประป๋อง ที่มีแรงงานทั้งไทยและเมียนมา ส่วน จ.ปทุมธานี การระบาดยังอยู่ในพื้นที่ตลาดสี่มุมเมือง จ.เพชรบุรี ที่โรงงานแคลคอมพ์ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ จ.ราชบุรี โรงงานบะหมี่บ้านโป่ง ที่พบผู้ป่วยใหม่ 33 ราย ยอดสะสม 45 ราย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า เป้าหมายสำคัญของการประกาศดังกล่าว คือ

  1. เพื่อให้มีการจัดหาวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชน โดยครอบคลุมอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากร
  2. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงานและส่งเสริม สนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด ในการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
  3. ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิดอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงภายใต้กฎหมาย หรือกฎระเบียนที่เกี่ยวข้อง
  4. เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชน เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชน อาจจัดหา หรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิดจาก 5 หน่วยงานดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำมาให้บริการประชาชน หรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องเหมาะสม เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

“กรณีของ อปท.นั้น การจะเริ่มซื้อได้จะต้องเป็นการซื้อจาก 5 หน่วยงานที่กำหนดไว้ตามข้อ 3 ไม่ได้หมายความว่า อปท. จะสามารถนำเข้าวัคซีนเข้ามาในราชอาณาจักรได้เอง และการดำเนินการต้องให้สอดคล้องกับแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ด้วย…ส่วนภาคเอกชน สามารถจัดซื้อจาก 5 หน่วยงานเช่นกัน ซึ่งเอกชนที่ช่วยจัดซื้อวัคซีนก็ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระที่ภาครัฐจะช่วยกระจายวัคซีนสู่ประชาชนให้รวดเร็ว และเป็นไปตามแผน”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงกรณีที่มีรายงานพบอาการไม่พึงประสงค์หลังจากที่ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะบริหารจัดการข้อมูลการฉีดวัคซีนและติดตามอาการภายหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังเหตุไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน โดยเมื่อประชาชนฉีดวัคซีนแล้วจะมีการลงข้อมูลผ่านระบบหมอพร้อม และหากเบื้องต้นประชาชนมีอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นก็สามารถติดต่อไปได้ที่หน่วยงานหรือ รพ.ที่ไปฉีดวัคซีน ตลอดจนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สปสช. ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีคณะอนุกรรมการที่มาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชา เพื่อมาร่วมสอบสวนและวิเคราะห์อาการไม่พึงประสงค์แยกตามระดับความรุนแรง ตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงเสียชีวิต โดยย้ำว่าประชาชนจะได้รับการดูแลและชดเชยจากระบบประกัน

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 174,738,762 ราย เสียชีวิต 3,762,625 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,242,866 ราย อันดับสอง อินเดีย 29,088,176 ราย อันดับสาม บราซิล 17,038,260 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,719,937 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,300,236 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top