กกร.ต่ออายุ 51 สินค้า-บริการควบคุมอีก 1 ปี/รื้อโครงสร้างอัตราเก็บค่าจีพี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ต่ออายุรายการสินค้าและบริการควบคุม ปี 2563 รวม 51 รายการต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 – 30 มิ.ย.65 แบ่งเป็น สินค้า 46 รายการ และบริการอีก 5 รายการ อีก 1 ปี เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการทางกฎหมายกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม

รวมทั้งได้ปรับมาตรการดำเนินการสำหรับสินค้าและบริการควบคุมบางรายการให้เหมาะสมมากขึ้น โดยในสินค้า 4 รายการ คือ กาก DDGS (กากที่เหลือจากการผลิตเอทานอล) ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ที่กำหนดให้ต้องแจ้งขออนุญาตต่อ กกร.ก่อนการขนย้ายนั้น สามารถแจ้งขนย้ายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว

ส่วนสินค้าเหล็กเส้น ที่ประชุม กกร. ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งข้อมูลการนำเข้า ทั้งปริมาณการนำเข้า-จำหน่าย ปริมาณคงเหลือ เป็นประจำทุกเดือน เพราะขณะนี้ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่เหล็กเคลือบดีบุกและเหล็กโครเมียมที่ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหาร ผู้ผลิตต้องปรับมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใหม่

ขณะที่บริการให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า กำหนดเพิ่มเติมให้เจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องแสดงรายละเอียดเพิ่มเติม 8 รายการ เช่น ชื่อผู้แต่งเนื้อร้องและทำนอง วันสิ้นสุดสัญญาอนุญาตให้จัดเก็บค่าตอบแทน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ยังมีมติกำหนดให้การรับซื้อผักและผลไม้ 5 รายการ ประกอบด้วย มะเขือเทศ พริก ฟักทอง กะหล่ำปลี และผัก-ผลไม้อื่นๆ ต้องปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ ส่วนผลไม้ 9 ชนิด ประกอบด้วย เงาะ มะม่วง ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม และสับปะรด ต้องปิดป้ายแสดงราคารับซื้อตั้งแต่เวลา 08.00 น.ของทุกวัน ขณะที่ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน (ผลปาล์มสด) และมันสำปะหลัง ห้ามผู้ซื้อคิดค่าชั่งน้ำหนักแล้วนำไปหักออกจากราคารับซื้อโดยเด็ดขาด เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ไม่ให้ผู้ซื้อเอารัดเอาเปรียบได้

รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กกร.ยังมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 1 ชุด โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และมีผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาการจัดเก็บค่าส่วนแบ่งการขาย (จีพี) ที่แพลตฟอร์มให้บริการสั่งและส่งอาหาร (ฟู้ด เดลิเวอรี่) เรียกเก็บจากร้านอาหารในแพลตฟอร์มอัตรา 30-35% ของยอดขาย เพื่อให้อัตราการจัดเก็บเหมาะสม โดยที่ต้องให้เกิดความสมดุลของทั้ง 3 ฝ่าย คือ แพลตฟอร์มต้องทำธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ร้านอาหาร และผู้บริโภคที่สั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ต้องได้รับความเป็นธรรม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top