สธ.ไม่ห้ามจัดกิจกรรมสงกรานต์ เตรียมชงมาตรการคุมโควิดเข้าศบค.ชุดใหญ่ 18 มี.ค.

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้ห้ามการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

โดยประชาชนยังสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ VUCA (Vaccine, Universal Prevention, Covid Free Setting, ATK) ซึ่งต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ทั้งผู้เดินทางกลับบ้าน และผู้ที่อยู่ที่บ้าน และมาตรการป้องกันตนเอง ทั้งระหว่างเดินทางกลับและระหว่างร่วมกิจกรรม ส่วนสถานที่จัดงานต่างๆ ต้องมีระบบการประเมินตนเอง และผู้ให้บริการต้องได้รับวัคซีนครบ รวมไปถึงต้องมีการสุ่มตรวจ ATK ทั้งก่อนและหลังเดินทางไปต่างจังหวัด

ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้มีการรายงานมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก และที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้มีการประเมินความเสี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้ติดโควิดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางกลับภูมิลำเนา การรวมตัวของญาติพี่น้อง การพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน การทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การสาดน้ำปะแป้ง และกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ

พร้อมมองว่า จะต้องมีการเฝ้าระวังในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานีขนส่งสาธารณะ ทั้งเครื่องบิน รถโดยสาร รถตู้ รถประจำทาง ปั้มน้ำมัน จุดพักรถ ตลอดจนที่บ้าน ร้านอาหาร และศาสนสถานต่างๆ หรือสถานที่จัดงานสงกรานต์ร่วมกัน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะในกลุ่ม 607

พญ.สุมนี กล่าวว่า จะนำมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 18 มี.ค.นี้ โดยจะมีการพิจารณาร่วมกันทั้ง 6 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับการพบคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงเทพฯ วันนี้ ทาง กทม.ได้มีการรายงานในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กว่า พบคลัสเตอร์ใหม่ คือ คลัสเตอร์คนงานก่อสร้าง ในเขตคลองสามวา ส่วน 5 เขตใน กทม.ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด ประกอบด้วย เขตหลักสี่ 470 ราย เขตบางซื่อ 187 ราย เขตหนองแขม 67 ราย เขตวัฒนา 44 ราย และเขตดินแดง 38 ราย

ด้านอัตราครองเตียงที่เป็นผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนัก อยู่ที่ 23.3% ซึ่งถือว่าระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนักได้ ส่วนอัตราการครองเตียงทั้งประเทศ อยู่ที่ 57.8% เป็นเตียงผู้ป่วยสีเหลือง 25.1% เตียงผู้ป่วยสีส้ม 15.1% เตียงผู้ป่วยสีแดง 25 %

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังได้มีการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตรายวัน ตั้งแต่ 15 ก.พ.- 4 มี.ค.65 โดยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พบว่า ผู้เสียชีวิตในช่วงที่สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด จะมีมากกว่าผู้เสียชีวิตช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การเสียชีวิตจากโอมิครอนลดลง ขณะที่ฝั่งเอเชีย พบว่า ยอดผู้เสียชีวิตในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตามีมากกว่าช่วงการระบาดของโอมิครอน แต่ปัจจัยเรื่องการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็มีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้เสียชีวิตลดลง

พญ.สุมนี กล่าวด้วยว่า ในช่วงปิดเทอมมีความเสี่ยงที่เด็กจะไปรวมตัวกันที่ร้านเกมส์ จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองต้องช่วยดูว่า สถานที่เด็กไปเล่นตู้เกมส์เป็นสถานที่ปิดหรือไม่ เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงการแพร่ระบาดได้มากขึ้น และหากเด็กๆ มีการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ช่วยสังเกตอาการว่ามีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือมีไข้หรือไม่ เพราะหากมีอาการดังกล่าวให้ตรวจด้วย ATK ทันที

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top