
จีนได้ประกาศขึ้นบัญชีควบคุมการส่งออก (export control list) ต่อซัพพลายเออร์ยุทโธปกรณ์ของไต้หวัน 8 แห่ง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อกองทัพของไต้หวัน
กระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศในวันนี้ (9 ก.ค.) ว่า ได้สั่งห้ามการจัดส่งสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (dual-use products) ไปยังหน่วยงานในไต้หวัน ซึ่งรวมถึงบริษัท อุตสาหกรรมการบินและอวกาศแห่งไต้หวัน (AIDC), บริษัท จีโอแซทแอโร่สเปซแอนด์เทคโนโลยี (GEOSAT Aerospace & Technology) และบริษัท ซีเอสบีซี ไต้หวัน (CSBC Corp., Taiwan) โดยบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ผลิตสินค้าและยุทโธปกรณ์หลากหลาย ตั้งแต่เรือดำน้ำที่ไต้หวันกำลังพัฒนา ไปจนถึงโดรนและเสื้อเกราะกันกระสุน
กระทรวงฯ ระบุในแถลงการณ์อีกฉบับว่า มาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อ “ปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน”
แจ็ค เฉิน ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนด้านความมั่นคง ฟอร์โมซา ดีเฟนซ์ วิชัน (Formosa Defense Vision) กล่าวว่า ไต้หวันมีข้อบังคับห้ามบริษัทด้านกลาโหมของตนใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากจีนในการสั่งซื้อสินค้าทางทหารอยู่แล้ว “ดังนั้นผลกระทบที่แท้จริงจะตกอยู่ที่สัญญาสำหรับภาคพลเรือนของบริษัทเหล่านั้น”
เฉินเสริมว่า ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ที่บริษัทเหล่านี้นำเข้าจากจีนเป็นสินค้าระดับพื้นฐาน เช่น นอตโลหะและแม่พิมพ์พลาสติก นั่นหมายความว่า “การหาชิ้นส่วนทดแทนในระยะสั้นไม่น่าจะใช่เรื่องยาก”
ย้อนไปเมื่อเดือนมิ.ย. ไต้หวันได้เพิ่มชื่อบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (Huawei Technologies) และบริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน เข้าไปในบัญชีรายชื่อควบคุม (entity list) ของตน ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ในไต้หวันทำธุรกิจกับทั้งสองบริษัทหากไม่ได้รับใบอนุญาต ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งได้ประกาศว่าจะตอบโต้สิ่งที่ตนเรียกว่าเป็น “การปิดกั้นทางเทคโนโลยี”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 68)