CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ซื้อ OSP รับแนวโน้มพลิกฟื้นโตจากหลายกลยุทธ์,M-150 พรีเมียมหนุน

โบรกเกอร์ต่างเชียร์ “ซื้อ” หุ้น บมจ.โอสถสภา (OSP) จากมุมมองที่ว่าแนวโน้มผลประกอบการในปี 65 จะกลับมาเติบโตได้หลังจากปีที่แล้วหดตัว เนื่องบริษัทเดินหน้าออกผลิตภัณฑ์ Premium อย่าง M-150 สูตรใหม่ พร้อมปรับราคาขายจาก 10 บาทเป็น 12 บาท บวกกับกำลังซื้อเริ่มฟื้นกลับมา รวมไปถึง OSP ยังเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ยังเตรียมวางจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมสาร CBD จากกัญชงภายใน Q2/65 อีกด้วย

ประกอบกับ OSP มีแผนฟื้นฟูยอดขายกลุ่ม Personal Care และผลักดันการจำหน่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายตลาดในต่างประเทศ และมองหาพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับราคาต้นทุนวัตถุดิบคาดว่าจะลดลงหลังจาก Q1/65 เป็นต้นไป บวกกับแผนลดต้นทุน 5-7 ปี หนุน Margin ให้ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่า OSP เป็นหุ้นที่จะ Outperform ได้ในปี 65 ไปจนถึงครึ่งแรกของปี 66

ราคาหุ้น OSP ปิดเที่ยงวันนี้ที่ 34.50 บาท ลดลง 1.25 บาท (-3.50%) ขณะที่ SET -1.52%

โบรกเกอร์คำแนะนำราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
โนมูระ พัฒนสิน  ซื้อ42.00
ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ42.00
เมย์แบงก์ ซื้อ41.00
ยูโอบีเคเฮียน ซื้อ40.50
กสิกรไทย  ซื้อ40.50
หยวนต้า ซื้อ40.00
เอเชียเวลท์ ซื้อ39.50
กรุงศรี ซื้อ38.00
ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี ซื้อ37.50
ไทยพาณิชย์ ซื้อ37.00
เอเซียพลัส ซื้อ37.00
พาย ซื้อ36.50

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหุ้น OSP ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง M-150 สูตรใหม่ที่ขยับราคาขายจาก 10 บาทมาเป็น 12 บาท และประเมินราคาต้นทุนวัตถุดิบ แม้จะเป็นช่วงพีคใน Q1/65 แต่คาดว่าจะเริ่มลดระดับลงมา หลังจากราคาพลังงานต่าง ๆ เริ่มลดลง

รวมถึงเห็น Momentum ของการคลายล็อกดาวน์ แม้ว่ากำลังซื้อในปัจจุบันอาจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็เห็นโอกาสที่ยอดขายจะวิ่งขึ้นจากราคาขายที่สูงขึ้นและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นกลับมาได้

พร้อมประเมินแนวโน้มผลประกอบการในปี 65 น่าจะมีรายได้อยู่ที่ราว 2.8 หมื่นล้านบาท กลับมาเติบโตได้หลังจากที่ปีที่แล้วหดตัว ขณะที่กำไรสุทธิคาดว่าจะเติบโตประมาณ 17% YoY และมองภาพของ OSP ในระยะกลางถึงระยะยาว คาดว่าจะเป็นหุ้นอีกตัวหนึ่งที่จะ Outperform ได้ในปี 65 จนถึงครึ่งแรกของปี 66

ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แผนเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ Premium โดยเฉพาะสินค้าใหม่อย่าง M-150 ระดับ Premium เพิ่มวิตามิน B12 (2 เท่า) ราคาขายปลีก 12 บาท ตั้งแต่ มี.ค. 65 ยกระดับตลาดเครื่องดื่มบำรุงไทย จะช่วยลดแรงปะทะจาก Cost Push Inflation ในปัจจุบัน และดีต่อ Gross Margin ระยะถัดไป หลังต้นทุนวัตถุดิบผ่านจุดเลวร้าย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สินค้า OSP ครองส่วนแบ่งการตลาดเบอร์ 1 ในไทย โดยมูลค่าตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศปี 64 อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท OSP ครองส่วนแบ่งการตลาดเบอร์ 1 ที่ 54.6%

พร้อมประเมินแนวโน้มกำไร Q1/65 น่าจะเห็นการเติบโต YoY หลังยอดขายเดือนม.ค.ขยายตัว YoY อีกทั้ง Q1/64 มีการปิดซ่อมเตาเผาใหญ่ กดดันให้ Gross Margin อยู่ที่ 33.5% เทียบกับพัฒนาการงวด Q4/64 ที่ทำได้ 34.6%

นอกจากนี้สถานะการเงินที่เป็น Net Cash 1.6 พันล้านบาท จึงมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ที่ปกติจ่ายปีละ 2 ครั้ง ล่าสุด OSP รายงานการจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งหลังของปี 64 ที่ 0.65 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD 5 พ.ค. 65

สำหรับ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า OSP มีแผนธุรกิจหลักในปี 65 คือโครงการลดต้นทุน (Fast Forward 10x) โดยตั้งเป้าลดต้นทุนให้ได้ 5 พันล้านบาท ภายใน 5-7 ปี เน้นการประหยัดต้นทุนและเพิ่ม Margin และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่วัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติและอลูมิเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ทาง OSP มีแผนล็อกราคาวัตถุดิบหลักอย่างน้อยครึ่งปี เช่น ตัวกระป๋องและฝาอลูมิเนียม, เศษแก้ว, Soda Ash และปรับราคาขายส่งขึ้น 2-3% รวมถึงปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานน้อยลง อีกทั้งเปลี่ยนขวดแก้ว Energy Drink ให้มีน้ำหนักเบา ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดผลกระทบของต้นทุนที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ OSP วางแผนเพิ่มยอดขายเครื่องดื่มในประเทศ เน้นสินค้าเพื่อสุขภาพและ Product Innovation รวมไปถึงฟื้นฟูยอดขายกลุ่ม Personal Care โดยเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่มี Innovation มากขึ้น ในกลุ่ม Babi Mild และ Twelve Plus และขายผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งมีแผนวางขายเครื่องดื่ม Functional Drink ผสม CBD จากกัญชงภายใน Q2/65 อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังขยายตลาดในต่างประเทศเพื่อเพิ่มยอดขาย โดยเฉพาะในประเทศ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมองหาหุ้นส่วนทางธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจ เช่น การทำ M&A, B2B

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top