พาณิชย์ เผยธุรกิจตั้งใหม่ ก.พ.ลดลงเล็กน้อย คาด H1/65 อยู่ที่ 4-4.2 หมื่นราย

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนก.พ. ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 7,211 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -1% และลดลง -10% จากเดือนมกราคม 2565 ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียน อยู่ที่ 19,376.01 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 766 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 333 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 222 ราย คิดเป็น 3%

นายจิตรกร กล่าวว่า ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นไปตามแนวโน้มปกติที่จะยังคงมีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงในช่วงต้นปี ทั้งนี้มีการจดทะเบียนจัดตั้ง ลดลงเพียง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ก.พ. 64) และพบว่าจำนวนการจดทะเบียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในเดือนก.พ. (59-65) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล การเปิดประเทศ แบบ Test & Go รวมทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของค่าเงินบาทที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการจัดตั้งธุรกิจ

ขณะที่ยอดจดทะเบียนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนก.พ. 65 มีจำนวน 669 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 25,643.99 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 60 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 36 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 20 ราย คิดเป็น 3%

ส่งผลให้มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 28 ก.พ. 65) จำนวน 822,541 ราย มูลค่าทุน 19.65 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 199,585 ราย คิดเป็น 24.26% บริษัทจำกัด จำนวน 621,635 ราย คิดเป็น 75.58% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,321 ราย คิดเป็น 0.16%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังคงสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการในประเทศ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตไม่สูงเทียบเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผ่อนคลายความกังวลลงได้ โดยรัฐบาลได้ปรับแนวทางการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ให้ผู้ป่วยสีเขียว ที่มีอาการไม่รุนแรงจะได้รับการรักษาดูแลแบบ “เจอ แจก จบ” รับยากลับบ้านได้ในวันที่ 1 มี.ค.65 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนของราคาสินค้าสูงขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง

“จากปัจจัยดังกล่าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 อยู่ประมาณที่ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000 – 75,000 ราย”

นายจิตรกร ระบุ

นายจิตรกร ยังกล่าวถึงการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น จำนวน 44 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 28 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,781 ล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 2,949 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สิงค์โปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 1,724 ล้านบาท และฮ่องกง จำนวน 4 ราย เงินลงทุน 308 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top