In Focus: ส่องชะตากรรมศรีลังกา หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายสุดในรอบ 74 ปี

ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 74 ปีนับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2491 โดยปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และทุนสำรองต่างประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งไม่เพียงพอกับการชำระหนี้ในปีนี้ รวมถึงการจ่ายค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง, อาหารและยารักษาโรค ขณะที่ประชาชนได้ถูกตัดกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศวันละกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน จนลุกลามไปสู่การประท้วงตามท้องถนนเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีและรัฐบาลออกจากตำแหน่งเนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาด

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปเจาะลึกวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ พร้อมย้อนรอยปมปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงทางออกล่าสุดของประเทศ

สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ : การบริหารที่ผิดพลาด

“ประชาชนกำลังทุกข์ทรมานเพราะว่าวิกฤตเศรษฐกิจ และผมเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ครั้งนี้” นี่คือถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะแห่งศรีลังกาซึ่งเป็นเกาะกลางมหาสมุทรอินเดีย โดยเผยให้เห็นถึงสถานการณ์สุดตึงเครียดจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์มองว่า รากเหง้าของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่สั่งสมมานานนับหลายปี ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการบริหารที่ผิดพลาดอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล จนส่งผลให้การคลังสาธารณะของประเทศย่ำแย่ และรายจ่ายของประเทศสูงกว่ารายรับ

โจเซฟ เกรกอรี มาโฮนีย์ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่าแสดงความเห็นว่า ศรีลังกากำลังประสบปัญหาจากสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ภาวะขาดดุลซ้ำซ้อน” ซึ่งเป็นลักษณะของการขาดดุลงบประมาณควบคู่ไปกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หรือหมายความว่า ค่าใช้จ่ายสาธารณะสูงกว่ารายได้ของประเทศ ตลอดจนมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากนโยบายลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะใช้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2563 ซ้ำร้ายพิษเศรษฐกิจของประเทศยังถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้คนจำนวนมากถูกจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเคยเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศหลักนั้น ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส

เมื่อขาดรายได้ผนวกกับเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ ศรีลังกาก็เริ่มขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นสำหรับการชำระหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลและซื้อสินค้านำเข้าที่สำคัญทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอาหาร, ยารักษาโรค และเชื้อเพลิง

ต่าน หวัง หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารฮั่งเส็งกล่าวว่า ฟางเส้นสุดท้ายของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นหลังจากรัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนก.พ. และเงินสำรองระหว่างประเทศของศรีลังการ่วงลงสู่ระดับ 2.36 พันล้านดอลลาร์ โดยศรีลังกาต้องสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่าเดิมในการนำเข้าพลังงาน จนส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่จำเป็นซึ่งรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง และรัฐบาลต้องใช้วิธีตัดไฟวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อลดรายจ่าย

วิกฤตการเมือง : การขาดเสถียรภาพ ประชาชนประท้วงต่อเนื่อง

เมื่อเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลของประธานาธิบดีโคฐาภยะและธนาคารกลางศรีลังกากลับรอคอยความหวังว่า การท่องเที่ยวจะฟื้นตัว โดยไม่ยอมปฏิบัติตามเสียงเรียกร้องของผู้เชี่ยวชาญและผู้นำฝ่ายค้านในการแสวงหาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และแหล่งอื่นๆ ในการคลี่คลายวิกฤต

แน่นอนว่าการเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินค่ามิได้ย่อมสร้างความโกรธเคืองและความไม่พอใจอย่างหนัก โดยประชาชนจากทั่วทุกสารทิศได้พากันมารวมตัวประท้วงขับไล่รัฐบาลและประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง และในที่สุด หลังจากทนต่อแรงกดดันไม่ไหว เมื่อวันที่ 3 เม.ย. คณะรัฐมนตรีศรีลังกาได้ลาออกชุดใหญ่ เหลือไว้เพียงประธานาธิบดี และนายมหินทะ ราชปักษะ นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ซึ่งเป็นพี่ชาย

ผ่านไปยังไม่ทันข้ามวัน ในวันที่ 4 เม.ย. นายโคฐาภยะตัดสินใจยุบคณะรัฐมนตรี และเชิญทุกฝ่ายในรัฐสภาร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นเอกภาพขึ้นใหม่ แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธโดยกลุ่มฝ่ายค้านและสมาชิกร่วมรัฐบาล จนท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายโคฐาภยะได้แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 17 ราย และยืนกรานว่าจะไม่ลาออก ท่ามกลางการประท้วงขับไล่รัฐบาลก็ตาม

นอกจากการประท้วงจากฝ่ายของประชาชน นายโคฐาภยะยังเผชิญกับแรงกดดันภายในรัฐสภาเอง ขณะนี้ฝ่ายค้านกำลังเริ่มพัฒนาแผนการที่จะถอดถอนเขาหรือลดอำนาจของเขา โดยนายฮาร์ชา เดอ ซิลวา แกนนำพรรคเอสเจบีซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ที่สุดของศรีลังกา เตรียมยื่นมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพื่อปลดนายโคฐาภยะ และระบุว่า “เรามีความเชื่อมั่นว่าเรามีเสียงในสภาที่เพียงพอ และจะยื่นมติไม่ไว้วางใจในเวลาที่เหมาะสม”

ทางออกระยะสั้น : ศรีลังกาประกาศพักชำระหนี้

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับหนี้ที่สูงขึ้น ตัวเลือกที่ศรีลังกาเลือกเดินนั้นเหลืออยู่เพียงไม่กี่ทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพักชำระหนี้ โดยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ศรีลังกาได้ประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ และเพื่อสำรองเงินตราต่างประเทศไว้เพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น เชื้อเพลิง และอาหาร

นายพี นันดาลัล วีระสิงห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกาเปิดเผยว่า การระงับชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราวนั้นเป็นการดำเนินการโดยสุจริต พร้อมเน้นย้ำว่ามาตรการที่ดีที่สุดที่เราสามารถใช้ในขณะนี้คือ การปรับโครงสร้างหนี้

ณ สิ้นเดือนมี.ค. ศรีลังกามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่เพียง 1.93 พันล้านดอลลาร์ และมีกำหนดชำระหนี้ต่างประเทศในปีนี้มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงหนี้พันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ค.นี้ อีกทั้ง ศรีลังกามีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรระหว่างประเทศ 78 ล้านดอลลาร์ และหากไม่จ่ายภายใน 30 วัน จะเป็นการผิดนัดชำระหนี้ต่างชาติเป็นครั้งแรก

ทันทีที่ศรีลังกาประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างพากันปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงอย่างน่าใจหาย เริ่มด้วยฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ปรับลดอันดับของศรีลังกาลงสู่ระดับ C ซึ่งเป็นระดับขยะ สอดคล้องกับสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ที่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับ CC ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดระดับที่ 3 ขณะที่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิสได้หั่นอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลงสู่ระดับขยะ (Junk)

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นว่าศรีลังกามีความจำเป็นต้องพักชำระหนี้ ตามที่นายมูร์ตาซา จาฟเฟอร์จี ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์เจบี ซีเคียวริตีส์แสดงความเห็นว่า การพักชำระหนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทิโมธี แอช นักยุทธศาสตร์อาวุโสบริษัทบลูเบย์ แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผลที่ศรีลังกาจะประกาศพักชำระหนี้จนกว่าพวกเขาจะสามารถเจรจากับ IMF และตกลงกับผู้ถือพันธบัตรได้ แต่เสริมว่า “สิ่งที่น่าประหลาดใจเพียงอย่างเดียวคือ คณะบริหารใช้เวลานานมากกว่าจะเผชิญความจริง”

ทางออกที่มีความหวัง : ศรีลังกาเดินหน้าเจรจา IMF

นอกจากการประกาศพักชำระหนี้ รัฐบาลศรีลังกายังเดินหน้าขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ โดยศรีลังกาตั้งเป้าหมายลดยอดขาดดุลการค้าลงประมาณ 14% ในปีนี้ โดยลดยอดขาดดุลการค้าลงสู่ระดับ 7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ จาก 8.1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

นายอาลี ซาบรี รัฐมนตรีคลังของศรีลังกาเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ยื่นขอเงินทุนเร่งด่วน (RFI) เพื่อบรรเทาปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งได้รับผลตอบรับจาก IMF ในทิศทางบวก โดย IMF ยืนยันที่จะให้การช่วยเหลือศรีลังกาอย่างเต็มที่ และเร่งรัดกระบวนการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้เศรษฐกิจของศรีลังกากลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

สำหรับการจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น ศรีลังกาจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศราว 3 พันล้านดอลลาร์ภายใน 6 เดือนข้างหน้าเพื่อช่วยในการจัดหาสินค้าที่จำเป็นให้แก่ประชาชน รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงและยารักษาโรค

ทั้งนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ในศรีลังกาจะดำเนินไปในรูปแบบใด ประธานาธิบดีโคฐาภยะจะยอมลงจากอำนาจท่ามกลางความโกรธแค้นและความไม่พอใจของประชาชนหรือไม่ หรือจะยังดึงดันบริหารประเทศต่อไปโดยปราศจากเสียงสนับสนุนจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ศรีลังกาก็คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นตัวจากวิกฤตรุนแรงระลอกนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top