IPOInsight: KCC ผ่าอนาคตเด้งต่อไปหุ้นบริหารหนี้เสีย

“ธุรกิจบริหารหนี้” นับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะได้รับประโยชน์จากการประมูลหนี้ของสถาบันการเงินในราคาที่ถูกตัดเป็นหนี้สูญก่อนจะนำไปติดตามทวงหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้จ่ายได้แบบผ่อนจ่าย ซึ่งทำกำไรให้กับธุรกิจบริหารหนี้ในระยะยาว

กระแสดังกล่าวส่งผลให้หุ้นน้องใหม่อย่าง บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล (KCC) ได้รับความสนใจจากนักลงทุน หลังจากเริ่มเปิดให้จองซื้อในวันที่ 22,25-26 เม.ย. ก่อนจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน ช่วงต้นเดือน พ.ค. 65 ด้วยราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3.70 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท

คร่ำหวอดธุรกิจบริหารหนี้กว่า 20 ปีก้าวสู่บริษัทมหาชน

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KCC พกประสบการณ์เต็มกระเป๋าในฐานะนักธุรกิจคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง และยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เช้าไปถือหุ้นหลากหลายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง BTC PYT SYNTEC CEI GEL ฯลฯ โดยเฉพาะประสบการณ์สำคัญในด้านการบริหารหนี้ในฐานะที่เคยนั่งอยู่ใน บริษัท สยาม ซินเทค แพลนเนอร์ จำกัด ผู้บริหารแผนของ บมจ.สยาม ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC)

จนถึง ณ วันนี้เดินหน้านำธุรกิจที่ปั้นมากับมือเข้าตลาดหุ้นด้วยตัวเอง

นายทวี ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า ในปี พ.ศ.2543 ได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทชื่อ บริษัท ริชชี่แคปปิตอล อัลลายแอนซ์ จำกัด และต่อมาในปี 2547 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด

ณ ขณะนั้น ไนท คลับ แคปปิตอล รับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการให้กับบริษัทที่ประสบกับปัญหาวิกฤติหนี้ และต่อมาในปี 2556 ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากนั้นจึงเริ่มซื้อพอร์ตหนี้เสีย (NPL) เข้ามาบริหารจัดการ โดยพอร์ต NPL ที่ทางบริษัทให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ คือพอร์ตสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ฐานะการเงินแกร่ง-อัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 37%

นายทวี กล่าวว่า ความโดดเด่นของ KCC คือ การมีทีมผู้บริหารที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์อยู่ในวงการบริหารหนี้มามากกว่า 20 ปี และองค์กรยังมีลักษณะ Lean Operation ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ สะท้อนได้จากตัวเลขอัตรากำไรขั้นต้นของ KCC ในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 88.95% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 37.08% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ด้านอัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัท (D/E) ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 0.63 เท่า แสดงให้เห็นถึงการมีโอกาสในการระดมทุนได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถขยายพอร์ตได้มากขึ้น

“เรามีทีมผู้บริหารที่มีศักยภาพอย่างคุณสุชาติ บุญบรรเจิดศรี ที่ถือหุ้นอยู่ 70% เป็นอดีตผู้บริหารสถาบันการเงินมาตั้งแต่ยุคปี 40 ผ่านมาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งนับว่าเป็นวิกฤติหนี้ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ และปัจจุบันคุณสุชาติก็เป็นนายกสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (Thailand Asset Management Company Association-TAMCA) มีประสบการณ์ในวงการซื้อขายหนี้มาอย่างยาวนาน

ส่วนผมเองตอนปี 40 ก็มีโอกาสได้ทำงานในสถาบันการเงิน และมีส่วนร่วมในการเข้าประมูลหนี้กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในปี 40 และหลังจากนั้นก็ได้ทำอยู่ในวงการบริหารหนี้ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูกิจการก็ทำมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา”นายทวี กล่าว

ระดมทุนเร่งโต ทุ่ม 800 ลบ.ซื้อหนี้ขยายพอร์ต

การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ KCC มีวัตถุประสงค์นำเงินไปใช้ซื้อหนี้ NPL เพิ่มขึ้นเพื่อขยายพอร์ตสินทรัพย์ โดยจะวางงบลงทุนเพื่อซื้อหนี้อีก 800 ล้านบาท จากพอร์ตปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 560 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโต และเงินอีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ชำระคืนหนี้กับสถาบันการเงินหรือไถ่ถอนหุ้นกู้ นอกจากนี้ยังนำไปใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการอีกด้วย

KCC วางกลยุทธ์ในปี 2565 เป็นกลยุทธ์เชิงรุกด้วยการขยายพอร์ต หลังจากเล็งเห็นหนี้ในอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถขยายพอร์ตให้เติบโตขึ้นได้ แต่พอร์ตที่เติบโตขึ้นก็จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ราคาที่ซื้อมามีความเหมาะสมด้วย จึงจะสามารถทำกำไรได้ดีตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

“พอร์ตที่เติบโตไม่ได้บ่งบอกว่าจะทำกำไรได้ดี มันขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถควบคุมต้นทุนหรือมีการบริหารจัดการอย่างไร ให้ได้ผลตอบแทนตามที่วางเป้าหมายไว้ ราคาที่เราซื้อมามันเหมาะสมหรือไม่ ซื้อมาแล้วเราปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ยกตัวอย่างตัวเลขผลประกอบการช่วงปี 62-64 ของเราจะเห็นกำไรสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเรามีรายได้อยู่ที่ 57 ล้านบาท 128 ล้านบาท และ 125 ล้านบาทตามลำดับ ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 12 ล้านบาท 49 ล้านบาทและ 52 ล้านบาท ตามลำดับ”นายทวี กล่าว

นายทวี กล่าว

นายทวี กล่าวต่อว่า บริษัทมองเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจบริหารจัดการหนี้ ทั้งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงวิกฤติข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเลข NPL ของสถาบันการเงิน

โดยปัจจุบันมีตัวเลข NPL ในระบบอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น สถาบันการเงินจะนำ NPL ออกมาขายเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ KCC เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top