ทริสฯ ลดอันดับเครดิต SAMART เป็น “BBB” จาก “BBB+” แนวโน้ม “Stable”

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เป็นระดับ “BBB” จาก “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยการลดอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการทำกำไรของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าแต่ยังเป็นระดับที่อ่อนแอกว่าสถานะอันดับเครดิตที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม (ICT) แบบครบวงจรรวมถึงผลงานในการดำเนินโครงการภาครัฐที่เป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากการแข่งขันที่รุนแรงและความผันผวนของผลการดำเนินงานจากการที่บริษัทพึ่งพางบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • มีสถานะทางการเงินที่ถดถอยลง ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากรายได้ในธุรกิจหลักของบริษัทเกือบทั้งหมดลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ลดต่ำลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้โดยลดลงมาอยู่ที่ 7 พันล้านบาทจากระดับ 9.3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2562

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 641 ล้านบาทในปี 2564 จาก 1.3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 3.2 พันล้านบาทในปี 2562 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.3 เท่าในปี 2564 จากระดับ 2.9 เท่าในปี 2562 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.6% เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 25% ในปี 2562

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ และโครงการที่กลับมาดำเนินการใหม่ โดยภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 9 เท่าในปี 2565 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5-6.5 เท่าในระหว่างปี 2566-2567 หลังจากความสามารถในการทำกำไรฟื้นตัว ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่ในช่วง 7%-13% ในระหว่างปี 2565-2567 ฐานรายได้จากการบริการที่เล็กลงอาจทำให้การทำกำไรในอนาคตมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น

บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของบริษัทต้องเผชิญกับการหดตัวของผลกำไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทเคยสร้าง EBITDA ที่ค่อนข้างแน่นอนให้แก่กลุ่มที่ระดับประมาณปีละ 1.6-1.7 พันล้านบาทในช่วงปี 2558-2562 แต่ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงเหลือเพียง 500 ล้านบาทในปี 2564

สาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลกำไรลดลงนั้นเกิดจากการที่ SAMTEL ไม่สามารถต่อสัญญางานบริการที่เกี่ยวข้องกับงานสนามบินที่หมดสัญญาลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ ทั้งนี้ หากรายได้จากสัญญาบริการดังกล่าวยังมีอยู่ก็น่าจะสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้เนื่องจากอายุของสัญญานั้นยาวนานกว่าสัญญาของธุรกิจโครงการจัดจำหน่ายอุปกรณ์และโครงการออกแบบก่อสร้างระบบ ICT แบบเบ็ดเสร็จ (Trading and Turnkey Projects) และอัตรากำไรจากสัญญาบริการเหล่านี้ก็สูงกว่าด้วย

รายได้จากโครงการแบบ Trading และ Turnkey นั้นมีแนวโน้มที่จะผันผวน ในขณะที่ขนาดของโครงการก็มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก อีกทั้ง ระยะเวลาในการดำเนินโครงการก็ค่อนข้างสั้นเพียง 6-18 เดือนซึ่งทำให้บริษัทต้องเผชิญความท้าทายในการหาโครงการใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ

คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดที่ลดลงและความคืบหน้าของโครงการที่เคยล่าช้า

ดูเหมือนว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศของบริษัทในประเทศกัมพูชาได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 และกำลังจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศเริ่มเปิดรับชาวต่างชาติให้เดินทางเข้าประเทศได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กว่าที่จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาดก็คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 24-36 เดือน ทั้งนี้ ธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยรายได้ของบริษัทในปี 2564 ลดลงเหลือ 456 ล้านบาทจากระดับ 2 พันล้านบาทในปี 2562

รายได้จาก บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) (SDC) ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลที่ดำเนินการให้แก่กระทรวงมหาดไทยเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่ล่าช้าอยู่หลายปี โดยบริษัทจะจัดหาอุปกรณ์เครื่องลูกข่ายวิทยุสื่อสารให้กับผู้ใช้งานรายย่อย เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ รวมทั้งสิ้นกว่า 76,000 หมู่บ้าน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ที่ศาลากลางจังหวัดด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างส่งมอบอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร โดยการจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุสื่อสารภายใต้โครงการของกระทรวงมหาดไทยจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทที่ประมาณ 2 พันล้านบาทซึ่งจะทำให้รายได้รวมของ SDC เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้งานรายย่อยอีก 9,400 รายภายใต้โครงการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลที่ดำเนินการให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากการให้บริการสื่อสารวิทยุจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า

โครงการใหม่คือโครงการบริการพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) ซึ่งได้รับผลกระทบจากความล่าช้าอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้นก็จะเริ่มสร้างรายได้ที่ประมาณปีละ 1 พันล้านบาทในปี 2565 นี้ โดยบริษัทได้งานโครงการบริการพิมพ์รหัสควบคุมให้แก่กรมสรรพสามิตระยะเวลา 7 ปี มูลค่ารวม 8.03 พันล้านบาทซึ่งเป็นบริการจัดพิมพ์รหัสข้อมูลแบบ 2 มิติด้วยหมึกพิมพ์พิเศษป้องกันการปลอมแปลงที่ด้านล่างของกระป๋องเบียร์และบนฝาขวดเบียร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี โดยโครงการจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2565 หลังจากมีความล่าช้าจากแผนเดิมที่คาดว่าจะเริ่มในปี 2564

โดยรวมแล้วบริษัทมีงานระหว่างการพัฒนาที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่ารวมราว ๆ 2.1 หมื่นล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเกือบ 40% มาจากโครงการ Direct Coding อีกประมาณ 30% มาจากธุรกิจให้บริการ ICT Solutions และอีกประมาณ 30% มาจากธุรกิจการออกแบบก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและธุรกิจวิทยุสื่อสาร โดยงานพร้อมส่งมอบส่วนใหญ่จะรับรู้เป็นรายได้ในช่วงเวลา 1-3 ปีข้างหน้า

  • อัตรากำไรหดตัวแต่คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากฐานรายได้บริการที่มีขนาดเล็กลงและผลกระทบจากโรคโควิด 19 โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทหดตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 9% เมื่อเทียบกับระดับ 14%-22% ในระหว่างปี 2562-2563

ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในช่วง 11%-20% โดยพิจารณาจากรายได้ในธุรกิจหลักที่คาดว่าจะฟื้นตัว ตลอดจนการเริ่มโครงการใหม่ ๆ และมาตรการลดต้นทุนที่มีประสิทธิภาพของบริษัท โดยบริษัทได้ทำการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดซึ่งรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ ในการนี้ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า EBITDA ของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในช่วง 1-2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการ

  • สภาพคล่องยังคงตึงตัวแต่คาดว่าจะบริหารจัดการได้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงตึงตัวแต่น่าจะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีความต้องการในการใช้เงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินลงทุนจำนวนปีละประมาณ 1.1-1.9 พันล้านบาทและเงินที่ใช้ชำระหนี้ที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 9.7 พันล้านบาทซึ่งเกือบ 3 พันล้านบาทเป็นหนี้สินเงินกู้โครงการระยะสั้นซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายชำระคืนสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเมื่อโครงการแล้วเสร็จ นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565 อีกจำนวนประมาณ 3 พันล้านบาทด้วย ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า

ในขณะที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.7 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 และยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวนประมาณ 2.7 พันล้านบาท ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคาดว่าจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 700 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าด้วย

  • โครงสร้างหนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 ประมาณ 72% ของหนี้ทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนซึ่งประกอบไปด้วยหนี้สินของบริษัทย่อยและหนี้เงินกู้โครงการซึ่งมีการโอนสิทธิ์รับเงินไปที่เจ้าหนี้โครงการ เนื่องจากระดับหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทนั้นสูงกว่าระดับ 50% ตามที่กำหนดไว้ใน “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบในการเรียกร้องค่าทดแทนจากสินทรัพย์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 9.9 พันล้านบาทถึง 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
  • EBITDA margin จะอยู่ที่ระดับประมาณ 11%-20%
  • ค่าใช้จ่ายในการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 4.2 พันล้านบาทในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะในการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรในประเทศไทยได้ต่อไปและจะสามารถฟื้นฟูธุรกิจกลับมาได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด หรือผลการดำเนินงานลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top