IRPC แจง Q1/65 รายได้โตแต่ Market GIM หดกดดันกำไร มองแนวโน้ม Q2/65 ฟื้น

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 76,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

อนึ่ง IRPC แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 1.5 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.58 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.27 บาท

นายชวลิต ระบุว่า บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,105 ล้านบาท หรือ 7.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 39% สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและปิโตรเคมี ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 9,891 ล้านบาท หรือ 17.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 42% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113%

สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2/65 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จากการคาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะยังคงยืดเยื้อและจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น

ในส่วนของปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ การที่สหรัฐฯ และพันธมิตรในองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency; IEA) มีความพยายามที่จะนำน้ำมันดิบจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve; SPR) มาใช้งานประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ต.ค.65 รวมถึงคาดการณ์ว่าจะมีการส่งออกน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากอิหร่านในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หากการยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน เป็นผลสำเร็จในช่วงปลายไตรมาส 2 นอกจากนี้ การใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก

แนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 2/65 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตสินค้าปลายทางเริ่มกลับมาสั่งซื้อเม็ดพลาสติกมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาวัตถุดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัสเซีย-ยูเครน

โดยปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าวที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและราคาวัตถุดิบที่อาจปรับเพิ่มมากขึ้นได้ รวมถึงความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวในการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) ประกอบกับความต้องการในภาคธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย EV Car จะใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่จำนวนมากในปี 65 ทั้งตามแผนเดิม และที่เลื่อนมาจากปี 64 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจีน ตามนโยบายการลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเคมี (Self-sufficiency) ปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาด้านความแออัดของท่าเรือซึ่งอาจจำกัดกิจกรรมทางการค้า เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ทั้งนี้ IRPC ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทางตรง และทางอ้อม สนับสนุนและขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และจัดทำแผนงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อเตรียมก้าวไปสู่องค์กร Net Zero Emission

นายชวลิต กล่าวอีกว่า ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นองค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ที่สอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบ บริษัทเดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ ต่อยอดความแข็งแกร่งให้ธุรกิจปัจจุบันที่สร้างสมดุลทั้งในด้านธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่กลุ่ม Smart Material ที่ได้คิดค้น วิจัย พัฒนาและผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ

รวมถึงการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี โดยการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Meltblown โดยขณะนี้โรงงานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างการทดสอบการเดินเครื่องจักรและทดลองผลิตผ้า PP Meltblown ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น นับเป็นก้าวสำคัญของ IRPC ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มเสถียรภาพ และความสามารถในการแข่งขันการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับสากล

นอกจากนี้ IRPC ได้เตรียมเสนอขายหุ้นกู้และหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปใช้ลงทุนตามกลยุทธ์ใหม่ การขยายผลการลงทุนเชิงอนุรักษ์ อาทิ ส่วนขยายโครงการทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ตามแนวทางการออกกรีนบอนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐาน โดยจะเปิดการจองซื้อในระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค.นี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top