สอท.ติงรัฐบาลจัดทำงบปี 66 เสี่ยงแก้เศรษฐกิจล้มเหลว ไม่ช่วยคลายปมปากท้อง

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มจากงบปี 65 จำนวน 85,000 ล้านบาท รัฐบาลยังใช้สมติฐานเดิมของสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผ่านมาในการจัดทำงบประมาณ ทั้งคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวที่ระดับ 4.5% ขณะนี้สภาพัฒน์คาดการณ์เติบโตเพียง 2.5-3.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.5-2.5% ขณะนี้สภาพัฒน์คาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ที่ 5% หากรัฐบาลยังใช้สมมติฐานเหล่านี้จัดทำงบปี 66 นับว่าสุ่มเสี่ยงต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ผล และในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ มีความผันผวนเศรษฐกิจโลก นับเป็นพายุทรงพลังที่จะสร้างความเสียหายอย่างมาก หากยังใช้สมติฐานเดิมมาใช้จัดทำงบประมาณปี 66

กรณีที่หลายประเทศทั้งสหรัฐ ยุโรป เป็นห่วงปัญหาเงินเฟ้อ โดยมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ย แต่ไทยยังต้องการให้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างมาก การใช้งบประมาณแก้ปัญหาขณะนี้ ทั้งราคาน้ำมันแพง กระทบต้นทุนสินค้า ขณะที่เม็ดเงินดูแลใกล้หมด รายได้ภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย การใช้งบประมาณนับเป็นกลไกสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจชะลอตัวขณะนี้ หากยังไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้อาจมีปัญหาหนักมาก อีกทั้งหลายประเทศเริ่มชะลอการส่งออกอาหาร เพื่อเก็บสำรองไว้ใช้ในประเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงเริ่มมีปัญหาบานปลายต่อหลายประเทศ

ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะประชาชนในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีกระแสอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่น ขาดความคาดหวังจากแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล กรณีฝ่ายค้านส่งสัญญาณใช้เรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 66 มาผลักดันเพื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในส่วนพรรค สอท.คงต้องติดตามดูว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวอย่างไร หลังจากสภาเริ่มนำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 มาพิจารณาวาระแรกในวันอังคารนี้ (31 พ.ค.)

ขณะที่ นายสันติ กิระนันทน์ กรรมการบริหารพรรคฯ กล่าวว่า พบข้อสังเกตุการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 หลายด้านอาจเกิดความเสียหายได้ เช่น การจัดสรรงบลงทุน 21.82% แต่พบว่าลงทุนจริงได้เพียง 15.46% จึงอาจไม่ทำให้เกิดการลงทุนได้แท้จริงต่อการฟื้นเศรษฐกิจ การจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนยังไม่มีรายละเอียดทำให้ตรวจสอบยากมาก มีสัดส่วนสูงถึง 35.26% เกินกว่าหนึ่งในสามของงบประมาณ ขณะที่งบกลางปี 66 มีสัดส่วน 18.50% จำนวน 590,470 ล้านบาท ได้นำเอาเบี้ยหวัดบำนาญมารวมเอาไว้ 330,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่า 50% ของงบกลางเพื่อดูแลข้าราชการ นับว่าเป็นการกันงบเอาไว้มากเกินไป โดยเหลือเอาไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน 92,400 ล้านบาท ไม่ถึงแสนล้านบาท หรือ 1 ใน 6 ของงบกลาง หากเจอปัญหาฉุกเฉินอย่างกรณีปัญหาโควิด-19 จะเกิดปัญหาบริหารงบแทบไม่ทัน

สำหรับแผนบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน กรณีแก้ปัญหาภัยแล้ง บริหารจัดการน้ำ โดยไม่มีตัวชี้วัดในการทำให้สัมฤทธิ์ผล จึงอยากให้ยกเลิก เพราะไม่ได้ใช้เป้าหมายจริง เพียงนำงบไปซุกซ่อนเอาไว้ ขณะที่การจัดซื้ออาวุธของกองทุนยังสูงนับหมื่นล้านบาท 60,000 ล้านบาท แม้การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการจะพิจารณาก็ยังไม่เห็นชัดเจน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันควรกันไว้นำมาแก้ปัญหาปากท้อง น้ำมันแพง ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top