เอกชน แนะองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่หยุดพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

เภสัชกรหญิงนางอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนพิริยะ (TNP) กล่วในงานสัมมนา “Battle Strategy” แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม EPISODE IV : STARTUP SME TO MEGATREND” ในหัวข้อ “กล้าคิดแบบ SME”ว่า สำหรับช่วงที่ผ่านการรูปแบบการซื้อสินค้าของประชาชนทั่วไป มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการหันมาซื้อสินค้าผ่านร้านค้าท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

“หลังจากที่เราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ มาเป็นระยะเวลา 7-8 ปี ที่ผ่านมา บริษัทมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบต่างๆที่ได้มีการพัฒนา ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ช่วงให้ในช่วงของที่เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าเราจึงได้รับเลือกเป็นลำดับแรกๆที่จะส่งสินค้าให้เพื่อจำหน่าย”ภ.ญ.อมร กล่าว

ขณะที่ช่วงไตรมาส 3/65 บริษัทเตรียมที่จะเปิดขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ คือ  “ธนพิริยะลาซาด้า” บนแอปพลิเคชัน LAZADA แพลตฟอร์มซื้อ-ขาย สินค้าออนไลน์ เพื่อเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าได้ทั้งประเทศ นอกเหนือจากแค่เฉพาะลูกค้าในโซนภาคเหนือตอนบนเท่านั้น อีกทั้งเป็นโอกาสในการขยายรากฐานการเติบโตของรายได้ให้แข็งแกร่ง สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่เริ่มหันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น

บริษัทยังคงยืนยันแผนการขยายสาขาในปีนี้ที่ 6 สาขา ที่จะทยอยเปิดให้ครบในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่า ณ สิ้นปีบริษัทจะมีสาขารวมทั้งหมด 44 สาขา จากปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งหมด 39 สาขา ที่ จ.เชียงราย 30 สาขา จ.เชียงใหม่ 3 สาขา จ.พะเยา 6 สาขา

นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายสินค้าอยู่ทั้งหมดมากกว่า 1,000 รายการ มากกว่า 10 ล้านชิ้นต่อปี ครอบคลุมอุปกรณ์ไฟฟ้า มือถือ ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ด้านสุขภาพ ทั่วประเทศ รวมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ประเทศเมียนมา และประเทศเวียดนาม

ด้านธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ได้มีการพัฒนาให้แก่ภาครัฐ และ เอกชนหลายๆซอฟต์แวร์ ในช่วงที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันได้มีการพัฒนา “Aniverse Metaverse” เมตาเวิร์สที่มีจุดเด่นด้านการเป็นเมตาเวิร์สที่เกี่ยวกับการศึกษา ผ่านคอนเซ็ปต์ ‘Learn-to-Earn’ เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศไทย และ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
สำหรับปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ ฮาร์ดแวร์ 90% และ ซอฟต์แวร์ 10% ในอนาคตมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีรายได้ในปี 67 จะมีสัดส่วนรายได้เป็น 50% ฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ 50%

“การพัฒนาธุรกิจของบริษัทจะไม่ได้ไปแบบเดี่ยวๆ แต่เราจะไปในรูปแบบของทีม ทีมสำคัญที่สุด การที่เราเป็น SMEs เราต้องทำตัวให้เหมือนเข็ม เจาะรูรูเดียวแล้วให้ทะลุ เราต้องการแค่นั้น เอาเรื่องที่ตัวเองทำ แล้วทำให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง” นายพิชเยนทร์ กล่าว

น.ส.ธีรญา กฤษฎาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล อินโนเวชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทยเป็นหลักโดยอาศัยองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยตั้งแต่สมัยอดีต นำมาปรับพัฒนาต่อยอดผสมผสานรวมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยพัฒนา และเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย โดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยผสานกับนวัตกรรม ในการสกัดสมุนไพร เป้าหมายการเติบโตของบริษัทหลังจากนี้ คือการพัฒนาและต่อยอดเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยต้องการที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มาจากสมุนไพรไทย ช่วยตอบโจทย์ของลูกค้า
 
สำหรับจุดเริ่มต้น การเข้าถึงแหล่งของเงินทุน จะมาจากเงินทุนของตัวเองก่อน เงินทุนจากพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยทั้งเรื่องของเงินทุนและตลาดด้วย ต่อมาคือแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงิน ซึ่งขนาดบริษัทที่ไม่ใหญ่โตมากนักมองว่าจะต้องมีการบริหารจัดการด้านเงินทุนอย่างดี ซึ่งปัจจุบันมีอีกหลากหลายเครื่องมือที่สามารถระดมทุนในการสร้างธุรกิจใหม่ๆได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top