BEM-ITD จับมือเกาหลียื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม, BTS ไม่ยื่น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า มีผู้มายื่นข้อเสนอการ่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาทในวันนี้ (27 ก.ค.) จำนวนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่

1. บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
2. ITD Group

โดยเวลาประมาณ 09.00 น.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้เข้ามายื่นเอกสารประมูลเป็นรายแรก

ทั้งนี้ BEM ได้ยื่นเอกสารประมูลด้วยตัวเองโดยไม่ได้รวมกลุ่มกับรายใด เช่นเดียวกับการยื่นประมูลครั้งแรกก่อนหน้านี้

นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง BEM กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อม และมั่นใจในศักยภาพและประสบการณ์ในการเดินรถและการก่อสร้าง อุโมงค์ต่างงๆ ตามเงื่อนไข ส่วนกรณีที่โครงการยังมีประเด็นฟ้องร้องที่ศาลปกครองนั้น เป็นอีกประเด็น ขณะที่การประมูลก็เดินหน้าต่อไป

ต่อมาเวลาประมาณ 10.30น. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ Incheon Transit Corporation ได้เข้ายื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มที่ 2 ในนาม ITD Group โดยนายประคิน อรุโณทอง รองประธานบริหารสายงานธุรกิจก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ITD กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลและจะต่อสู้อย่างเต็มที่ โดยมีบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าเป็นพาร์ทเนอร์

อย่างไรก็ตาม นายประคิณ ระบุว่าไม่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการพิจารณา และกรณีที่คดีพิพาทที่ศาลปกครองมีคำตัดสินนั้น เพราะไม่ต้องการก้าวล่วง โดยยืนยันการตัดสินใจเข้าประมูลครั้งนี้เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการพิจารณา

ส่วน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ไม่ได้เข้ายื่นซองประมูลในวันนี้

โดยขั้นตอนต่อไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะพิจารณาข้อเสนอ และดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

สำหรับเอกชนที่ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯไปก่อนหน้านี้มีจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ดังนี้

1.บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

2.บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)

3.บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

4.บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)

5.บมจ. ช.การช่าง (CK)

6.China Harbour Engineering Company Limited

7.บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

8.โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด

9.Incheon Transit Corporation

10.บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)

11.บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)

12.RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD

13.Kumagai Gumi Co., LTd.

14.บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top