IPOInsight: TGE รายใหญ่สวนปาล์มกับเส้นทางโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป้า 10 ปีโต 4 เท่า

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติหนุนให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เทรนด์พลังงานสะอาดก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ รวมถึงประเทศไทยที่ทางภาครัฐออกนโยบายสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงเป็นโอกาสให้ บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ประเภทโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภายในเดือนส.ค.นี้

TGE กำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 2.00 บาท จำนวนเสนอขายไม่เกิน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค.65 โดยมี บล.เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ส่วน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

สวนปาล์มน้ำมัน 4.5 พันไร่จุดเริ่มต้นธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 3 โครงการได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตรวม 29.7 เมกะวัตต์

“ย้อนกลับไปประมาณ 36 ปีที่แล้ว ทางกลุ่มได้ปลูกปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ 4.5 พันไร่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาเราตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และพบว่ามี By Product อย่างทะลายปาล์มเปล่าที่จะต้องนำไปกำจัดทิ้ง ช่วงนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทางภาครัฐมีนโยบายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ทางกลุ่มก็เลยตัดสินใจตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยนำทะลายปาล์มเปล่ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต”

นายศักดิ์ดากล่าว

ปัจจุบัน บริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นสัญญาระยะยาวรวม 20.3 เมกะวัตต์ และกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับบริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด (TCP) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่ทำธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และอีกบางส่วนใช้ภายในกลุ่มบริษัท TGE เช่นกัน

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตมากขึ้น แค่วัตถุดิบจากทางบริษัทเองอาจยังไม่เพียงพอ จึงมีการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันบริษัทผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบชีวมวลได้อย่างหลากหลายทั้งทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และต้นปาล์มสับ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วัตถุดิบชีวมวลประเภทอื่นทดแทนได้ เช่น รากไม้ยางพารา ในกรณีที่วัตถุดิบชีวมวลประเภทปาล์มขาดแคลนหรือมีราคาสูง

ต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าขยะชุมชน Margin สูง-รายได้เพิ่ม

นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 แห่งแล้ว TGE ยังคงมุ่งมั่นที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเฟสแรก 3 แห่ง ในจังหวัดสระแก้ว, ราชบุรี และ ชุมพร กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 65 และสามารถ COD ได้ภายในปี 67

“โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเป็นธุรกิจที่ต้องบอกว่ามี Margin สูงมาก เรื่องแรก คือ เรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิง นั่นก็คือขยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องทิ้ง ถือว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเราไม่มี และตามสัญญาที่เราเซ็นไว้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เขาจะต้องนำขยะมาให้เราประมาณ 300-400 ตัน/วัน”

นายศักดิ์ดา กล่าว

นายศักดิ์ดา กล่าวอีกว่า นอกจากไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแล้ว บริษัทยังจะมีรายได้เพิ่มมาอีก 2 ส่วน ทั้งจากค่ากำจัดขยะ (Tipping Fee) 450-600 บาท/ตัน และรายได้จากการขายไฟฟ้า ซึ่งหากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีราคาอยู่ที่ 4.58 บาท/หน่วย ในขณะที่โรงไฟฟ้าขยะชุมชนจะอยู่ที่ 5.84 บาท/หน่วย

เจาะกลยุทธ์คุมต้นทุน ผ่านประสบการณ์กว่า 36 ปี

TGE ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน โดยมีจุดแข็งเรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มและยางพาราที่สำคัญของประเทศ จึงมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่ง ประกอบกับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและใช้เทคโนโลยีการผลิตเดียวกัน จึงมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุน การเก็บสำรองชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้า

“คนที่จะเป็นผู้ชนะในธุรกิจนี้ต้องเก่งในเรื่องการบริหารต้นทุน เพราะต่อให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มั่นคงก็จริง แต่การปรับขึ้นค่าไฟนั้นมันเกิดขึ้นได้ยาก สิ่งที่เราจะทำได้คือเรื่องต้นทุน อย่างวัตถุดิบเราก็นำของเสียที่ไม่มีคุณค่ามาสร้างรายได้ ทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันและความสามารถทำกำไรที่สูงขึ้น”

นายศักดิ์ดา กล่าว

รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทสามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายชนิด ทั้งเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง 40-60% และการเผาวัตถุดิบอย่างทะลายปาล์มเปล่าได้ 100% ซึ่ง TGE นับเป็นรายแรก ๆ ในประเทศไทย ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าชีวมวล TBP ยังมีหม้อผลิตไอน้ำ (Boiler) ขนาดใหญ่สามารถผลิตไอน้ำเพื่อจำหน่าย ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง

นอกจากนี้ บริษัทมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมากว่า 36 ปี มีคู่ค้าและพันธมิตรที่หลากหลาย รวมถึงมีหลักในการดำเนินงาน 3 ด้าน อย่าง T : Technology ปรับปรุงเทคโนโลยีและผลิตนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง, G : Governance หลักธรรมาภิบาล เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ E : Excellence มุ่งสู่ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศอีกด้วย

เทรนด์พลังงานสะอาดเติบโต ภาครัฐเดินหน้าสนับสนุน

“สิ่งที่เรามองเห็นในระดับโลกวันนี้ คือทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องของโลกร้อน หรือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และวันนี้เรายังเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หนุนให้ดีมานด์ใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นองค์กรระดับโลกหลายแห่งคาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าการใช้พลังงานทดแทนจะมีอัตราเติบโตไม่น้อยกว่า 3-4 เท่า ขณะที่พลังงานด้านอื่นโดยเฉพาะฟอสซิลก็จะลดลงไปเรื่อยๆ”

นายศักดิ์ดา กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศไทย จะเห็นว่าได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2022) ที่ภาครัฐได้กำหนดว่าต่อจากนี้โรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นมาจะต้องมาจากพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ได้ออกนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเช่นกัน อาทิ นโยบายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV หรือแม้กระทั่งแผนในอนาคตที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์ข้อมูล Data Center ซึ่งนโยบายต่าง ๆ ใช้ไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาครัฐให้การสนับสนุนพลังงานทดแทนทั้งด้านของ Demand และ Supply ไปพร้อมกัน

ระดมทุนเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนทะลุเป้า 200 เมกะวัตต์ปี 75

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเฟสแรก (สระแก้ว, ราชบุรี และชุมพร) ราว 70% ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

นอกจากนี้ TGE ยังอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเฟสสองอีก 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี, ชัยนาท, อุบลราชธานี และ สมุทรสาคร คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ในช่วงไตรมาส 3-4/65 กำลังผลิตรวมราว 37.7 เมกะวัตต์

“ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน เราจะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 90 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าชีวมวล 29.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชนเฟสแรกที่กำลังพัฒนา 22 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเฟสสองที่กำลังรอประมูล 37.7 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้นพอร์ตของเราจะเปลี่ยนไปทันที สัดส่วนรายได้หลักของเราจะขยับไปสู่โรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี Margin สูง โดยจะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของรายได้รวมทั้งหมด และเรายังมีนโยบายขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนด้านอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ TGE บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 200 เมกะวัตต์ภายในปี 75”

นายศักดิ์ดา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top