KTAM ออกกองใหม่ล็อกผลตอบแทน-บริหารความเสี่ยงเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นเปิดขาย 5-10 ต.ค.

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า แม้ภายใต้ภาวะความผัวผวนของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยและหาโอกาสจากการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ KTAM จึงเปิดตัวกองทุนเปิดเคแทม Inverse Floater Complex Return2 ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KTIF2) เพื่อเปิดโอกาสช่วยให้นักลงทุนหาโอกาสการการลงทุนจากแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยที่กองทุนจะนำมาอ้างอิงปรับตัวสูงขึ้น แต่จะไม่ได้ปรับสูงเกินกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกองทุนดังกล่าวจะเสนอขายระหว่างวันที่ 5 – 10 ตุลาคม 2565 นี้ ด้วยเงินลงทุนครั้งแรกขั้นต่ำ 500,000 บาท

สำหรับกองทุน KTIF2 เป็นกองทุนมีลักษณะพิเศษที่มีความซับซ้อน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดหรืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะปรับขึ้นไม่มากหรือไม่ปรับขึ้น หรือมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในอนาคต และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อควบคุมความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยได้ โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ ที่ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทสัญญาสวอป (Inverse Floater Swap) โดยกองทุนจะแบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 กองทุนจะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ และ/หรือเงินฝาก และ/หรือตราสารการเงิน ที่มีอันดับของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) ประมาณร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ส่วนที่ 2 กองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทสัญญาสวอป (Inverse Floater Swap) ซึ่งอายุของสัญญาจะมีประมาณ 2 ปี โดยไม่ต่ำกว่า 1 ปี 11 เดือน และไม่เกิน 2 ปี 1 เดือน นับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียน ทั้งนี้กองทุนจะเป็นฝ่ายจ่ายดอกเบี้ยคงที่และเป็นผู้รับดอกเบี้ยลอยตัว โดยใช้ THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งคืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

สำหรับเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนตามส่วนที่ 2 จากการเข้าทำสัญญาสวอปในแต่ละงวด เกิดจากส่วนต่างระหว่างกระแสเงินสดจ่าย (ดอกเบี้ยคงที่) และกระแสเงินสดรับ (ดอกเบี้ยลอยตัว) โดยขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของ THOR ซึ่งมีลักษณะผกผันกับอัตราผลตอบแทนของกองทุน แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 เมื่อนำ THOR มาแทนค่าในสูตรคำนวณแต่ละงวด และได้ผลลัพท์น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่กองทุนจะได้รับ ดังนั้นผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละงวด คือ อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่กองทุนจะได้รับจากสัญญาสวอป และกรณีที่ 2 เมื่อนำ THOR มาแทนค่าในสูตรคำนวณแต่ละงวด และได้ผลลัพท์มากกว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่กองทุนจะได้รับ ดังนั้น ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละงวด คือ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามสัญญาสวอป ทั้งนี้ กองทุนจะพิจารณาผลตอบแทนของสัญญาสวอป ณ วันที่พิจารณาทรัพย์สินอ้างอิง

ทั้งนี้ กองทุนมีแผนจะทำธุรกรรม Inverse Floater Swap Forward กับธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะคู่สัญญาฯ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTAM จึงถือเป็นธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งผลประโยชน์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top