ก.ล.ต.เผยยังไม่พบกรณีน่าเป็นห่วงใน บล.อื่น นอกเหนือจาก เอเชีย เวลท์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า หลังจากเกิดกรณีการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่ผิดปกติ ก.ล.ต.ก็ได้ถือว่าเรื่องนี่เป็นกรณีเร่งด่วน จึงได้ร่วมประสานงานกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ลงไปตรวจสอบ บล.ต่าง ๆ โดย ณ ขณะนี้นอกเหนือจาก บล.เอเชีย เวลท์ (AWS) แล้วก็ยังไม่พบว่ามี บล.แห่งอื่นที่น่าเป็นห่วง

ก.ล.ต. ชี้แจงว่าคำสั่งปิดทำการชั่วคราว AWS สืบเนื่องมาจากการรายงานของบริษัท ประกอบกับการที่สำนักงาน ก.ล.ต.เข้าไปตรวจสอบบริษัทร่วมด้วย พบว่ามีการนำเงินในบัญชีของลูกค้าส่วนหนึ่งไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อนำไปชำระราคาหลักทรัพย์ ซึ่ง ก.ล.ต.พบว่ามีเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินของลูกค้า เป็นการกระทำผิดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน โดยกรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางการเงินของบริษัท

“บริษัทเขาคงพิจารณาแล้ว ณ ขณะนั้นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเขา”นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

ขณะนี้ยังต้องรอว่า AWS สามารถนำเงินมาคืนในบัญชีลูกค้าได้ตามกำหนดวันที่ 20 พ.ย.นี้หรือไม่ โดย ก.ล.ต.ได้เตรียมแนวทางดำเนินการไว้แล้วทั้งกรณีที่สามารถคืนเงินได้หรือคืนเงินไม่ได้ เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้บริหาร AWS ในเบื้องต้น บริษัทแจ้งว่ามีแผนงานอยู่หลายช่องทาง จึงจะรอให้ถึงเวลานั้นก่อน

“รอดูวันที่ 20 พ.ย.ว่าบริษัทจะสามารถทำได้หรือไม่ เท่าที่ฟังเมื่อวานก็มีแผนงานอยู่ หลายช่องทาง รอให้ถึงเวลานั้นก่อน เมื่อพบกับประเด็นปัญหาว่าทางกฎหมายมีช่องทางอะไรก็ได้เชิญ กตท.มาหารือแล้ว ยืนยันว่าเป็นประเด็นของบริษัทนี้แห่งเดียว”นางสาวรื่นวดี กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม การนำเงินลูกค้าไปใช้โดยไม่ถูกต้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะต้องมีการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ส่วนจะนำไปถึงความผิดในส่วนอื่น ๆ หรือกฎหมายฉบับอื่นด้วยหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณากันในขั้นตอนต่อไป

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ปัจจุบันมี 3 โจทย์ใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่สืบเนื่องจากการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ คือ 1.การพิจารณาว่าเกิดกรณีที่เกิดขึ้นเป็นธรรมหรือไม่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แยกจากเรื่องฉ้อโกงที่เป็นไปตามกฎหมายอาญา โดยวานนี้ได้มีการเข้าพบกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เพื่อที่จะขอความร่วมมือสนธิกำลัง

2.บริษัทหลักทรัพย์ และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตนเองตามกติกาหรือไม่อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. ได้มีการเข้าไปสอบถามพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

และ 3. ก.ล.ต. ได้มีการพูดคุยกับ ตลท. เกี่ยวกับคุณภาพของหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก

“โจทย์ใหญ่ 3 ข้อที่กล่าวมาเราได้เริ่มดำเนินการทำไปในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา บางกิจกรรมทำไปแล้ว บางกิจกรรมอยู่ระหว่างการคิด”นางสาวรื่นวดี กล่าว

ขณะนี้ ก.ล.ต. ได้ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพื่อเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบให้เกิดความรวดเร็ว เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการผ่านกฎหมาย ก.ล.ต. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนตนเองทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ทำงานแล้วใน 2-3 ประเด็น

นางสาวรื่นวดี กล่าวอีกว่า การกำกับดูแลของผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ก.ล.ต. มีการดูแลอยู่ทั้งหมด 3 มิติ คือ 1.ความมั่นคงทางด้านฐานะทางการเงิน 2.บุคลากร โดยเน้นไปยังกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญๆ อาทิ ผู้แนะนำการลงทุน (IC) เป็นต้น 3.ระบบงาน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับ AWS โดยมีส่วนงานที่สำคัญคือการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
สำหรับเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เป็นเครื่องมือที่ใช้คำนวนเพื่อที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบถึงสภาพคล่องของตนเองนั้นมีเพียงพอมากแค่ไหน โดยหากไม่สามารถดำรง NC ไว้ได้ก็จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆต่อไป อาทิ ห้ามขยายการประกอบธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างของสูตรคำนวณ NC = สินทรัพย์สภาพคล่อง – หนี้สินรวม – ค่าความเสี่ยง มีข้อสังเกตว่าสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องไม่สามารถนำเป็น NC ได้ และหนี้สินรวมหมายถึงหนี้สินทั้งหมด ยกเว้นหนี้สินด้อยสิทธิ/สัญญาเช่า
“หลักการที่ผ่านมาในอดีตบริษัทหลักทรัพย์จะมีการคำนวนทุกวัน และรายงานให้ ก.ล.ต. เป็นรายเดือน แต่หากติดลบต้องรายงานทันที และประสานงานใกล้ชิดว่าแผนต้องแก้อย่างไร ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่มีความละเอียดและซับซ้อน ที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. ไม่ได้มีการเปิดเผย แต่สำหรับกรณีที่เกิดกับทาง AWS อยู่ในส่วนของข้อ 3 คือ ปัญหาเรื่องระบบงานที่ทำไม่ถูกต้องตามที่ ก.ล.ต. ได้ประกาศเอาไว้ ยังไม่ได้เกี่ยวกับสถานะทางการเงิน”นางสาวรื่นวดี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top