ดัชนีเชื่อมั่น SME ต.ค.เพิ่มต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากท่องเที่ยวฟื้น-ราคาวัตถุดิบลดลง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนต.ค. 65 พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

สำหรับปัจจัยบวก มาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ อีกทั้งราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อกำไรของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการทรงตัวของกำลังซื้อ โดยเฉพาะภาคการค้าที่มีความเชื่อมั่นชะลอตัวลง

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนต.ค. เพิ่มขึ้น ได้แก่ องค์ประกอบด้านกำไรและต้นทุน ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 57.4 และ 41.5 จากระดับ 54.8 และ 38.7 ตามลำดับ โดยเมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า

– ภาคการบริการและภาคการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 55.7 และ 51.3 จากระดับ 53.7 และ 49.3 ตามลำดับ ซึ่งมีผลมาจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมวดเสื้อผ้าและสิ่งทอที่รับตัดเสื้อผ้าออกงาน สกรีนเสื้อ ทำเสื้อทีม ได้อานิสงส์จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมไปถึงของที่ระลึก ยาดม ยาหอมที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจขยายตัว

– ภาคการค้าและภาคการเกษตร ชะลอตัวลง อยู่ที่ระดับ 51.8 และ 50.2 จากระดับ 53.0 และ 53.7 ตามลำดับ โดยภาคการค้าส่วนหนึ่งมาจากยอดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ใกล้หมดลง รวมทั้งต้นทุนราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยต่อครั้งลดลง ทำให้รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ภาคการเกษตรชะลอตัว เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบการผลิตทำได้น้อยลง และผู้ประกอบการยังกังวลกับราคาปุ๋ยที่คงตัวอยู่ในระดับสูง

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนต.ค. 65 พบว่า ยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นภาคกลาง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้

– ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 53.7 จากระดับ 51.7 ผลจากสภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเหมาะสมกับการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านขายของฝากและของที่ระลึก รวมถึงสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าพื้นเมืองและยาสมุนไพร ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.2 จากระดับ 51.6 ผลจากการจัดกิจกรรมงานเทศกาลและประเพณีในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น งานบุญ เทศกาลแข่งเรือ งานงิ้ว เป็นต้น ส่งผลให้มีการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านรับตัดชุด/สกรีนเสื้อ

– ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 49.7 เนื่องจากกำลังซื้อขยายตัวจากนักท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

– ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 53.7 จากระดับ 53.5 ผลจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยผ่านด่านชายแดน ส่งผลให้ธุรกิจในเขตชายแดนและในจังหวัดสงขลาขยายตัว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง และประสบปัญหาน้ำท่วม

– ภาคกลาง และกรุงเทพฯและปริมณฑล ค่าดัชนีปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 51.3 และ 54.0 จากระดับ 52.2 และ 56.1 ตามลำดับ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยต่อครั้งลดลง ประกอบกับสินค้าบางรายการมีราคาสูง รวมทั้งผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ของภาคกลาง และจากกำลังซื้อในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ อีกทั้งภาคธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งสินค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร และวัสดุก่อสร้าง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 54.6 จากการคาดการณ์ค่าครองชีพอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลต่อกำลังซื้อ อย่างไรก็ตาม ทุกภาคธุรกิจยังมีความความเชื่อมั่นเกินค่าฐาน 50 สะท้อนว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นต่อธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยวที่เป็นช่วง High season ทุกภูมิภาค

จากการสอบถามธุรกิจ SME กับมุมมองภาวะเศรษฐกิจและแผนรับมือในปี 66 พบว่า ผู้ประกอบการ SME เกือบ 50% มองว่าราคาสินค้า/วัตถุดิบ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รองลงมา 38.7% มองว่า ราคาสินค้า/วัตถุดิบ จะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1-10% โดยส่วนใหญ่มองทิศทางภาวะธุรกิจจะดีขึ้นในปี 66 ตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

ส่วนผู้ประกอบการที่มองว่าภาวะธุรกิจจะทรงตัว จากความผันผวนหลายปัจจัยทั้งราคา รายได้ และสถานการณ์ทางการเมือง ในส่วนของผู้ประกอบการที่มองว่าจะแย่ลง ปัจจัยกระทบสำคัญมาจากราคาสินค้า/วัตถุดิบที่จะฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภค สำหรับปัจจัยกระทบทางลบที่ผู้ประกอบการกังวลว่าจะส่งผลต่อธุรกิจมากที่สุด คือ ด้านกำลังซื้อ และรายได้ที่ชะลอตัว และราคาสินค้า/วัตถุดิบแพง โดย SME บางรายคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวในสัดส่วนที่มากกว่า 80%

ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจเกิดความผันผวนในปี 66 ผู้ประกอบการมีแผนการรับมือในด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย (โดยการปรับเพิ่มราคาขาย/ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น) ซึ่งแนวทางดังกล่าว อาจส่งผลต่อความต้องการซื้อทั้งจากภาคธุรกิจและภาคประชาชน แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการ 55.3% ยังคงมีความคาดหวังว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าปี 65

สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ การกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งมาตรการเพิ่มกำลังซื้อเดิมที่ SME ต้องการให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง คือ โครงการกระตุ้นการใช้จ่าย (โครงการเราชนะและคนละครึ่ง) รองลงมา คือ การให้ความช่วยเหลือในการลดภาระต้นทุน และค่าใช้จ่าย มาตรการเงินเยียวยาธุรกิจ โดยต้องการได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ และครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top