Decrypto: ซ่อนเงินเมียด้วย คริปโทฯ มุกตลกหรือทำได้จริง?

หนึ่งในมุกตลกตลอดกาลบนโลกโซเซียล คือ มุกพ่อบ้านใจกล้าแอบซ่อนเงินภริยาด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซุกซ่อนในที่ลับที่คาดไม่ถึง หรือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ปกปิดซุกซ่อนเงินเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่วายที่ภริยาก็สามารถเจอเงินที่ซ่อนไว้อยู่ร่ำไป และในยุคนี้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายขึ้นก็มิวายมีคนแนะนำให้เหล่าพ่อบ้านใจกล้าทั้งหลายใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นแหล่งซ่อนเงินภริยาเพราะไม่สามารถค้นเจอได้ง่าย ไม่ต้องหาที่ซ่อน เวลาจะใช้ก็เพียงขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาเป็นเงินบางส่วนโอนเข้าบัญชีธนาคารเป็นครั้ง ๆ ไป จึงน่าพิจารณาว่ามุกตลกดังกล่าวสามารถทำได้แค่ไหนเพียงใดตามกฎหมาย

กรณีดังกล่าว เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญาแล้วนั้น กฎหมายได้กำหนด ยกเว้นโทษ (มีโทษแต่ไม่ต้องรับโทษ) สำหรับความผิดที่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) กระทำต่อกันไว้ 8 ฐาน คือ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์ โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ รับของโจร ทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก

ดังนั้นแล้วหากสามีหรือภริยานำทรัพย์สินหรือเงินของอีกฝ่ายด้วยวิธีการข้างต้นแล้ว แม้มีความผิดตามกฎหมายแต่กฎหมายก็ได้ยกเว้นโทษไว้ทำให้ไม่ต้องได้รับโทษ เพราะเหตุว่ากฎหมายมองว่าเป็นเหตุส่วนตัวที่สามารถยกโทษให้กันได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นวางหลักไว้ว่า ทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้นเป็นสถานะสินสมรสย่อมตกเป็นสิทธิของทั้งสามีและภริยาฝ่ายละครึ่งตามกฎหมาย แม้ทรัพย์สินบางประเภทจะมีการจดทะเบียนใส่ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม รวมถึงการนำเงินที่ทำมาหาได้ภายหลังจดทะเบียนสมรสไปเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วใช้เพียงฝ่ายเดียวตามมุกตลกดังกล่าว อีกฝ่ายก็จะมีสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ครึ่งหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ในบัญชีที่เป็นชื่อของอีกฝ่ายคนเดียว หากต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต้องหย่าขาดออกจากกันหรืออยู่ระหว่างกระบวนการหย่าแล้ว การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เปิดเผยทรัพย์สินรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสถานะเป็นสินสมรสนั้น เพราะคิดว่าอีกฝ่ายไม่ทราบหรือไม่สามารถทราบได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ใดหรือกับใคร

แต่อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ การโอนหรือจำหน่ายจ่ายแจกก็อาจถูกเพิกถอนนิติกรรมได้อีกด้วย ซึ่งหากอีกฝ่ายทราบว่ามีทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสถานะเป็นสินสมรสถูกปกปิดซ่อนไว้ก็อาจดำเนินคดีเอากับฝ่ายที่กระทำทุจริตได้ ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้ยกเว้นความรับผิดให้สำหรับกรณีเช่นนี้

สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็หวังว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นเพียงมุกตลก และขอให้พ่อบ้านแม่บ้านใจกล้าทั้งหลายรักกันเช่นเดิม

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top