ด่วน! รฟท.สั่งเบรกเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ ลดกระแสหลังถูกถล่มยับ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 9 ม.ค.66 ถึงกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เพื่อแจ้งให้ระงับงานซื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท.ออกไปก่อน จากที่เคยได้ลงนามในสัญญาจ้างให้บริษัทฯ เริ่มดำเนินการในวันที่ 3 ม.ค.66

เนื่องจากในสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมูลค่าสูงถึง 33 ล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าว ได้กลายมาเป็นกระแสสังคมในช่วงที่ผ่านมา โดยถูกมองว่ามีราคาสูงเกินไป

ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ตอบกระทู้ถึงการเปลี่ยนป้ายจาก “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”ว่า เนื่องจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่ออันเป็นมงคล เมื่อเดือน ก.ย.65 ซึ่ง รฟท.ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนของทางราชการ และถือเป็นประเพณีปฏิบัติ โดยยกตัวอย่าง เช่น กรณีการเปลี่ยนชื่อสนามบินหนองงูเห่า เป็นสนามบินสุวรรณภูมิ

ส่วนงบ 33 ล้านบาท นั้น สามารถแยกค่าใช้จ่ายออกเป็น

งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม

– งานรื้อถอนผนังกระจก 85 ตารางเมตร โครงผนังกระจก 188 ตารางเมตร และป้ายสถานีเดิม 2 ฝั่ง เป็นเงิน 4,098,329.16 ล้านบาท

– งานโครงสร้างเหล็ก น้ำหนักเหล็ก 13,014 กิโลกรัม เป็นเงิน 1,524,824.35 บาท

– งานกระเช้าไฟฟ้ารองรับการทำงานที่สูง 28 เมตร เป็นเงิน 605,368.00 บาท

งานส่วนที่ 2 งานสถาปัตยกรรม

– การจัดหาและติดตั้งกระจกชุดใหม่ ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษโดยเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า เป็นเงิน 2,657,882.85 บาท

– งานจัดหาและติดตั้งโครงกระจกอะลูมิเนียม เป็นเงิน 2,094,915.02 บาท

– งานจัดหาติดตั้งป้ายที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสัญลักษณ์การรถไฟฯ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 110 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์ เป็นเงิน 19,642,043.52 บาท

งานส่วนที่ 3 งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ

– งานออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และรูปแบบการติดตั้ง เป็นเงิน 918,700.89 บาท

งานส่วนที่ 4 งานเผื่อเลือก (Provisional Sum)

– งานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนกระจกระหว่างเปิดใช้งาน เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท แต่ในส่วนรายการนี้ ได้กำหนดไว้ว่า จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ ซึ่งก็คือ ถ้าไม่ต้องดำเนินการก็จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างรายการนี้ การรถไฟฯ ก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ทางกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายใน 15 วัน หรือ 19 มกราคมนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top