สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จัดเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานครประจำปี 2566 (Bangkok Film Festival) เปิดประเด็นเสวนาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มุ่งขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่ง “หนัง” ผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ยกระดับอุตสาหกรรมหนังไทย หนึ่งในหัวข้อที่ได้มีการพูดคุยและถกกันระหว่างผู้ร่วมสัมมนาฝั่งผู้ผลิตภาพยนตร์และภาครัฐ 4 ราย ในหัวข้อ “ฮาว ทู ปั้น กรุงเทพ เมืองแห่งหนัง” นั้น มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์อย่าง “หนัง” ปั้นเมือง และในขณะเดียวกัน “เมือง”ก็สามารถมีส่วนปั้น “หนัง” ได้ด้วย
อุตสาหกรรมหนังไทยช่วงโควิด-19 รอดได้ด้วยธุรกิจสตรีมมิ่ง
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กูรูที่เข้าร่วมการพูดคุยต่างแสดงความเห็นในประเด็นนี้อย่างหลากหลาย เริ่มด้วย วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ กล่าวถึงการเอาตัวรอดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยในช่วงโควิด-19 ว่า การผลิตภาพยนตร์ เพื่อป้อนให้กับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งนั้น ช่วยทำให้ฝั่งอุตสาหกรรมภาพยนตรืพอจะเอาตัวรอดไปได้ เพราะช่วงที่โควิด-19 ระบาดนั้น บริการสตรีมมิ่งรุ่งเรืองมาก การผลิตภาพยนตร์ให้กับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเหล่านี้ จึงทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปได้ด้วย
ทางด้านพรชัย ว่องศรีอุดมพร คณะกรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ย้ำถึงโควิด-19 ว่าเป็นผลให้วงการนี้หยุดนิ่ง แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์จะทุเลาลงแล้ว แต่โดยภาพรวมของภาพยนตร์ไทยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เพราะผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงในช่วงหนึ่ง ซึ่งการเอาตัวรอดภายใต้วิกฤตครั้งนี้ ผู้ผลิตเล็งเห็นหนทางในการสนับสนุนภาพยนตร์ รวมถึงการเสาะหาคอนเทนต์เพื่อนำเสนอในโรงภาพยนตร์
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสมาชิกและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองว่า ที่ผ่านมา ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังไม่ถึงกับร่วงลงถึงจุดต่ำสุด พร้อมกับเปรียบเทียบว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เหมือนกับมีไข้มาตลอด มีไข้ต่ำๆ ในเรื่องนี้ มีปัญหา เพราะ ecosystem หรือสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรม พอเข้าสู่การผลิตไม่ได้ ผู้ผลิตคอนเทนต์ก็จะไปแสดงออกในช่องทางอื่น ที่ผ่านมา ผู้กำกับภาพยนตร์ก็จะมาจากครีเอทีฟโฆษณาเสียเป็นส่วนใหญ่ และหนังที่ผู้กำกับเหล่านี้อยากสร้างก็ไม่ใช่หนังที่คนอยากดู
เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนี้แล้ว “เมือง” จะสามารถสนับสนุน “หนัง” ได้อย่างไร วีระศักดิ์ มองว่า ถ้าทำให้เมืองเป็นพื้นที่ที่มีเซ็คชั่นให้สามารถคุยกันได้ หรืออำนวยความสะดวกให้กับผู้ผลิตหนัง ผู้ทำหนังก็สามารถทำหนังได้สะดวกและทำหนังให้มีเสน่ห์ได้
นอกจากนี้ หากเมืองสามารถลดแบบแผนลง ทางครีเอเตอร์ก็จะมาเอง แล้วก็ต้องใจกว้าง ไม่ใช่ว่า หนังนำเสนอในด้านที่เลวร้ายแล้วจะไม่อนุญาตให้ถ่ายทำ และเมื่อมีการเผยแพร่ไปแล้วก็ต้องให้รางวัลด้วย หรืออย่างโรงหนัง หากมีการลดภาษีให้กับโรงหนังที่ยืนเรื่องฉายหนังไทย 5 วันติดต่อกันแล้วมีการลดภาษีโรงเรือนให้ ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฉายหนังไทยได้
ในขณะที่ นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหศีนิมา จำกัด ผู้อำนวยการสร้างโขนภาพยนตร์ หนุมาน ไวท์ มังกี้ (HANUMAN White Monkey) ได้เล่าถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้มีการฉายไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ได้รับความสนใจน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่น คงยากที่จะปฏิเสธว่าวิธีการตัดสินใจของบริโภคนั้นมีผลต่อผู้ผลิตสื่อภาพยนตร์อย่างมากทีเดียว ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยของเวลาหรือการใช้จ่าย จึงไม่แปลกที่การดูภาพยนตร์ออนไลน์จะได้รับความนิยม
อุปสรรคที่ยังก้าวข้ามไม่ได้ของหนังไทย
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเพียงพอ พรชัยมองว่า เรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม “หนังไทยวันนี้ทุกคนมักจะมองว่าคนไทยมีครีเอทีฟเยอะ และมีคนมีความสามารถเยอะ แต่คนเหล่านี้ยังไม่รู้อยู่ที่ไหน ยังไม่ได้เข้ามาในอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ” นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงค่าตอบแทนที่แตกต่างเมื่อเทียบกับของต่างชาติ ความไม่ต่อเนื่องของสายงาน ซึ่งเป็นปัญหาของโครงสร้างวิธีการบริหารจัดการหรือบริษัทในการจัดระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ความลำบากในส่วนนี้ไปตกที่คนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาในวงการ ผนวกกับภาพรวมรายได้จากการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปัจจุบัน แม้แพลตฟอร์มสตรีมมิงจะมีส่วนช่วยในการโปรโมตภาพยนตร์ก็ตาม แต่ก็ยังขาดความเสถียรในเรื่องของรายได้จากภาพยนตร์ที่ผลิตออกมา สัดส่วนของความเสี่ยงจากการลงทุนยังมีมาก ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติจึงอยากจะผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนในการสนับสนุนให้เป็น “วัน สต็อป เซอร์วิส” เพื่อแก้ปัญหานี้
“อุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คนไทยไม่มี มูฟวี คัลเจอร์ (Movie culture) จริง ๆ ” เป็นอีกประเด็นที่พรชัยหยิบยกมาพูดถึง นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมยังขาดแรงสนับสนุนและการสร้างบรรยากาศที่จะช่วยโปรโมตภาพยนตร์ พร้อมกับยกตัวอย่างของบรรยากาศเมืองแห่งหนังที่มีส่วนช่วยสนับสนุนภาพยนตร์ในต่างประเทศ เช่น การติดป้ายบิลบอร์ดเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่แอลเอ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศของเมืองแห่งหนังได้
ในทางกลับกัน เมื่อหันมาดูเรื่องการโปรโมตในส่วนนี้ นฤมลกล่าวว่า ค่าโฆษณาผ่านป้ายบิลบอร์ดในกรุงเทพฯนั้นราคาสูงมาก หากทางกทม. มีส่วนช่วยในการขึ้นป้าย เพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายหรือการเสียภาษีเพิ่มเติม ก็จะมีส่วนเอื้อให้เกิดบรรยากาศความเป็นเมืองแห่งหนังของกรุงเทพฯได้
สร้างหนังอย่างไรให้โดนใจคนดู
แม้ว่า หนังไทยจะยังมีอุปสรรคในด้านต่าง ๆ แต่ก็ใช่ว่า จะไม่สามารถเติบโตได้ ผู้กำกับชื่อดังอย่างวิศิษฎ์มองว่า หนังไทยล้มลุกคลุกคลานมาหลายรอบ แต่ก็ไม่ตาย ถ้าวางแผนอย่างเป็นระบบหนังไทยก็ไปได้ โดยหนังไทยมีเสน่ห์ และเป็นส่วนที่สามารถส่งเสริม “เมือง” ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปโฆษณา พร้อมกับยกตัวอย่างหนังจีนอย่าง Lost in Thailand ที่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนเข้ามาดูและทำให้คนอยากมาเที่ยวกรุงเทพฯเอง
“ถ้าหนังทำให้คนดูแล้วเห็นเสน่ห์ คนก็จะมาเอง แม้ว่า จะเป็นเรื่องราวด้านมืดก็ตาม” วิศิษฎ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การถ่ายทำหนังในเมืองนั้นก็ไม่ได้ราบรื่น วิศิษฎ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีขั้นตอนเยอะ รวมทั้งเรื่องของความล่าช้า เช่น ยกกองถ่ายไปถึงสถานที่แล้วก็เข้าไปถ่ายทำในสถานที่ไม่ได้ เพราะหนังสือที่ให้การอนุมัติการถ่ายทำยังไม่มา ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับกองถ่ายอย่างมาก
ทางด้านวีระศักดิ์มองว่า การที่เมืองมีตัวกลางไปดูแลการยื่นเรื่องและประสานงานในด้านต่าง ๆ ให้กับกองถ่าย จะช่วยทำให้กองถ่ายได้มีเวลาและสามารถวางแผนได้ โดยหนังหรือผลงานของกองถ่ายนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จะอยู่ต่อไปอีกนาน ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพราะได้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์งาน ยกตัวอย่าง หนังที่ฉายให้เห็นว่า เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กหรือแอลเอมักจะมีฉากปล้นธนาคารอยู่เรื่อยๆ ถามว่า ยังมีคนไปเที่ยวนิวยอร์กและแอลเอ หรือกลัวมั้ย คำตอบคือ คนก็ยังไปทั้ง 2 เมือง ดังนั้น ขอให้ “หนัง” สนุก คนก็ยังดู
จะว่าไปแล้ว หากผู้ผลิตหนังสามารถผลิตหนังโดนใจและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปด้วย กรุงเทพฯ ในฐานะเมือง ก็น่าจะสามารถปั้นหนังได้ ท้ายที่สุด คำกล่าวที่ว่า “เวลาสร้างหนัง สื่อสำคัญที่สุดคือ คุณจะสร้างให้ใครดู” ของ พรชัย ว่องศรีอุดมพร คณะกรรมการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติที่กล่าวไว้งานเสวนา คงจะช่วยผลักดัน “หนังไทย” ให้ไปต่อได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 66)
Tags: Bangkok Film Festival, ภาพยนตร์, เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร