ZoomIn: คัดหุ้นเด่นกลุ่ม Spending รับเงินเฟ้อ ม.ค.ต่ำสุดรอบ 9 เดือนลดแรงกดดันค่าครองชีพ

เริ่มยิ้มออกกันได้บ้างแล้ว หลังกระทรวงพาณิชย์เปิดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค.66 ที่ 5.02% ต่ำสุดในรอบ 9 เดือนเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง หลังจากปีก่อนเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก อัตราเฉลี่ยทั้งปี 65 ที่ 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปีนับจากปี 41 ที่อัตราเงินเฟ้อ8.1% โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีที่ผ่านมาสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน (Energy) ทั้ง น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ ได้แก่ การผลิต, ขนส่ง, อาหาร, โรงไฟฟ้า และยังมีผลต่อประชาชนในแง่ของการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วย

ขณะที่ในปี 66 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าเงินเฟ้อในช่วง 2-3% หรือค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% ลดลงมาค่อนข้างมากจากปี 65 เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าวถือว่าเหมาะสมและไม่ผันผวน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ร่วมกันกำหนดกรอบเป้าเงินเฟ้อที่ 1-3% เพื่อช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนสามารถวางแผนการลงทุนและการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้

เงินเฟ้อที่ปรับตัวลง และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนหลักต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของภาคประชาชน รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

คัดหุ้นเด่นกลุ่ม Spending รับเงินเฟ้อขาลง

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อคาดเป็นปัจจัยหนุนต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และหนุนการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แนะเก็งกำไรในกลุ่ม Spending และเกี่ยวเนื่อง ได้แก่

– บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS)

– บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

– บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL)

– บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)

– บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO)

– บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC)

– บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO)

– บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP)

– บมจ.วอริกซ์ สปอร์ต (WARRIX)

ด้านบล.โนมูระ พัฒนะสิน ระบุคาดเป็นบวกต่อหุ้นอิงการบริโภค โดยเฉพาะค้าปลีกและเครื่องดื่ม ได้แก่

– บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)

– บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO)

– บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI)

– บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE)

บล.หยวนต้า ระบุ แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยที่จะลงมาต่ำกว่าระดับ 5.0% ตั้งแต่เดือนก.พ.66 ช่วยลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถือเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อกลุ่ม Domestic play, ค้าปลีก, ไฟแนนซ์, อาหารเครื่องดื่ม, สื่อสาร และ REITs เช่น

– บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

– บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO)

– บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD)

– บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG)

– บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI)

– บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)

– ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BAREIT)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 66)

Tags: , , ,
Back to Top