หุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งไซด์เวย์มีลุ้นรีบาวด์หลังลงลึก แต่น้ำม้นร่วงกดดัน

นักวิเคราะห์คาดแนวโน้มตลาดเช้านี้แกว่งไซด์เวย์ มีลุ้นรีบาวด์หลังวานนี้ปรับลงไปมาก แม้รายงานการประชุมเฟดบ่งชี้ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อหลังเศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรง ซึ่งเป็นไปตามคาด ขณะที่ลุ้นกำไรบจ.กลุ่มเปิดประเทศที่คาดว่าจะออกมาดี ส่วนกลุ่มพลังงานรับแรงกดดันจากราคาน้ำมันร่วง แนะเล่น selective อย่างกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มโรงพยาบาล พร้อมให้แนวต้านที่ 1,665-1,670 จุด แนวรับที่ 1,650 จุด

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวไซด์เวย์ แต่มีลุ้นรีบาวด์หลังวานนี้ปรับตัวลงไปมาก แม้ว่าเมื่อคืนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ.ว่าเฟดยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรง ตลาดแรงงานยังตึงตัว มีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ซึ่งยากที่เงินเฟ้อจะลดลง

นอกจากนี้รอลุ้นกำไรบริษัทจดทะเบียนที่จะประกาศงบการเงินของกลุ่มเปิดประเทศน่าจะออกมาดี ส่วนกลุ่มพลังงานน่าจะปรับตัวลงจากราคาน้ำมันร่วง ขณะที่เงินทุนจากต่างชาติก็ยังขายออกต่อเนื่อง เพราะเงินบาทอ่อนค่าจึงมีการล็อกกำไร และปัจจัยการเมืองยังต้องติดตามนโยบายของแต่ละพรรค หลังตลาดรับรู้ไทม์ไลน์วันยุบสภาและวันเลือกตั้งแล้ว

แนะนำให้เล่น selective อย่างกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มโรงพยาบาล ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวลง เช่น TASCO กลุ่มสายการบิน

พร้อมให้แนวต้านที่ 1,665-1,670 จุด แนวรับที่ 1,650 จุด

 

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

 

– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (22 ก.พ.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,045.09 จุด ลดลง 84.50 จุด หรือ -0.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,991.05 จุด ลดลง 6.29 จุด หรือ -0.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,507.07 จุด เพิ่มขึ้น 14.77 จุด หรือ +0.13%

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการ เนื่องในวันพระราชสมภพจักรพรรดิญี่ปุ่น, ดัชนีฮั่งเส็งเปิดภาคเช้าที่ระดับ 20,339.15 จุด ลดลง 84.69 จุด หรือ -0.41% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,293.52 จุด เพิ่มขึ้น 2.37 จุด หรือ +0.07%

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (22 ก.พ.) 1,659.48 จุด ลดลง 9.15 จุด (-0.55%) มูลค่าการซื้อขาย 55,106.24 ล้านบาท

– นักลงทุนต่างชาติต่างชาติขายสุทธิ 4,380.74 ลบ. เมื่อวันที่ 22 ก.พ.66

– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 2.41 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 73.95 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2566

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (22 ก.พ.) อยู่ที่ 6.73 ดอลลาร์/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 34.68 อ่อนค่าจากวานนี้ ให้กรอบวันนี้ 34.50-34.80 จับตาตัวเลขศก.สหรัฐ

– รัฐบาลเร่งเคลียร์โครงการค้างท่อ เสนอ ครม.ก่อนยุบสภา “คมนาคม” ค้าง 7 แสนล้าน ดันส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง เคลียร์ปมโอน 3 สนามบิน จับตาประมูลสายสีส้ม “คลัง” เร่งเสนอบัตรสวัสดิการรัฐ เก็บภาษีขายหุ้น “พลังงาน” ชงประมูลปิโตรเลียม ดันมาตรการส่งเสริมแบต สศช.ขอทุกฝ่ายรักษาบรรยากาศการเมืองให้เอื้อฟื้นเศรษฐกิจ หวังตั้งรัฐบาลใหม่ไร้ขัดแย้ง หนุนลงทุนเอฟดีไอ

– “จุรินทร์” แจงประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (WCEC) ดึงนักลงทุนพรึ่บ 4,000 คน คาดเงินสะพัด 400-500 ล้านบาท แอบหวังดึงเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของไทยทะยาน 40,000-50,000 ล้านบาท

– ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเพิ่มค่าการตลาดสำหรับกลุ่มน้ำมันดีเซลขึ้นอีก 0.40 บาทต่อลิตร จากเดิมขอความร่วมมือเรื่องค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไว้อยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มเป็น 1.80 บาทต่อลิตร เพื่อให้ค่าการตลาดทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันอยู่ในกรอบ 2 บาทต่อลิตร สอดคล้องกับมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เรื่องมาตรการบริหารจัดการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และให้คงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 1 สัปดาห์

 

หุ้นเด่นวันนี้

 

– CPN (ฟินันเซีย) “ซื้อ” เป้า IAA Consensus 82 บาท ทิศทางจำนวนผู้เข้าใช้บริการในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับการกลับมาของสถานการณ์ปกติ ทำให้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่แก่ลูกค้าลดลง หนุนการกลับมาฟื้นตัวของผลประกอบการ และยังมีแผนการลงทุนใหม่ต่อเนื่อง เพื่อขยายโครงการตามแผน ขณะที่ราคาหุ้นยังอยู่ไนช่วงพักตัว เป็นจังหวะดีในการทยอยเข้าลงทุน

– ERW (ทรีนีตี้) “ซื้อ” เป้า IAA Consensus 5.20 บาท หลังผลการดำเนินงานไตรมาส 4/65 พลิกมีกำไร และยังสามารถมีผลประกอบการมีกำไรได้ในปี 66 จากการเปิดประเทศ และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมาตั้งแต่ไตรมาส 1/66

– BJC (พาย) “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย IAA Consensus 45 บาท ทิศทางธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจบรรจุภัณฑ์มียอดขายเติบโตขึ้น หลังการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ อีกทั้งยังได้รับปัจจัยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการของรัฐ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากผลประกอบการในไตรมาส 4/65 ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด




โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 66)

Tags: , , ,
Back to Top