อ.แหม่ม แนะไทยเฝ้าระวัง-เร่งสร้างเชื่อมั่นลดปัจจัยเสี่ยง หลังวิกฤตแบงก์ล้มลาม

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช.แรงงาน ในฐานะเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงมุมมองกรณีธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ที่สหรัฐอเมริกาถูกสั่งปิด ห่างมาแค่ 5 วัน ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) สถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ กำลังประสบปัญหาใหญ่ อาจลามเป็นความเสี่ยงเชิงระบบตลาดการเงินยุโรป

ทั้งนี้ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย ต่างออกมายืนยันถึงความมั่นคงของระบบการเงินในไทย แต่ความกังวลถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังไม่รู้ว่าจะควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมสร้างความตื่นตระหนกกับนักลงทุนและคนไทย และจากข้อมูลที่ได้ติดตามมาโดยตลอด ยังเชื่อมั่นในเสถียรภาพระบบการเงินและสถาบันการเงินไทย

แต่วันนี้ เรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่น ที่ภาครัฐต้องตรึงความรู้สึกและอารมณ์ของคนไว้ให้ได้ ก่อนจะลุกลามบานปลาย จึงหวังว่า 1-2 วันนี้ จะได้เห็นการแถลงร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินและสถาบันการเงินไทย

นางนฤมล กล่าวว่า กว่าจะเกิดเหตุเมื่อวาน มีสัญญาณของความสูญเสียที่ก่อตัวมาร่วม 2 ปี ดังนี้

1. มีนาคม 2564 Credit Suisse สูญเสีย 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากปล่อยให้ Archegos Capital ใช้เงินกู้ไปเก็งกำไรในกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) ในสหรัฐอเมริกาที่ผิดพลาด

2. นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ทยอยถอนเงินออกจาก Credit Suisse เพราะขาดความเชื่อมั่น เฉพาะปีที่แล้ว มียอดถอนออกรวม 133,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายงานผลขาดทุนเท่ากับ 7,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. ตุลาคม 2565 Credit Suisse ปรับโครงสร้างใหญ่ แยกธุรกิจเพื่อการลงทุนออกไป และลดจำนวนพนักงานร่วม 9,000 คน แต่ยังมีความจำเป็นต้องออกหุ้นเพิ่มทุน

4. ธนาคารแห่งชาติซาอุดิอาระเบีย (Saudi National Bank) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร Credit Suisse ประกาศไม่เพิ่มทุนให้เพราะถือหุ้นอยู่แล้ว 9.8% จะไม่เพิ่มทุนจนเกินลิมิตที่ 10%

5. วันที่ 15 มีนาคม ราคาหุ้น Credit Suisse ร่วงลงหนักถึงกว่า 24%

ซึ่งทางธนาคารกลางสวิส ต้องออกประกาศว่าพร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ Credit Suisse ในคำประกาศยืนยันว่า เหตุที่เกิดนี้มิได้เชื่อมโยงโดยตรงกับกรณีของธนาคาร Silicon Valley ในสหรัฐอเมริกาถูกสั่งปิดเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี อารมณ์และความวิตกกังวลของนักลงทุนเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top