สธ. เผยเบื้องต้น 70 คนงานโรงถลุงเหล็กตรวจไม่พบรังสีซีเซียม-137

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน จ.ปราจีนบุรี รายงานผลตรวจร่างกายคนงานโรงถลุงเหล็กที่หลอมวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไม่พบรังสีในร่างกาย แต่ยังให้ติดตามตรวจเลือดต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบระยะยาว พร้อมจัดทำแนวทางให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกรณีตรวจพบวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ ในโรงถลุงเหล็กเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชน ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ล่าสุด ได้รับรายงานความคืบหน้าว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ตรวจสอบบริเวณโรงงานที่พบวัสดุกัมมันตรังสีแล้ว ไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงตรวจการปนเปื้อนรังสีในร่างกายของคนงานโรงงานทั้ง 70 คน ไม่พบปริมาณรังสีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี จะติดตามอาการผิดปกติ และตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพคนงาน รวมทั้งญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ความรุนแรงจากการได้รับรังสีซีเซียม-137 ขึ้นกับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส โดยหากสัมผัสโดยตรงจะเกิดบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ส่วนผลกระทบระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ประสานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยจากกัมมันตรังสี จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ พร้อมทั้งประสานจัดสิ่งสนับสนุน เช่น เครื่องตรวจวัดรังสีเพิ่มเติม ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัยชนิดกันอนุภาค รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสีด้วย

“แม้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นปลายทาง คือ ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ได้ให้แต่ละกรมในสังกัดใช้เหตุการณ์นี้ทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อนำมาปรับระบบดูแลสุขภาพให้รัดกุมยิ่งขึ้น และรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top