ZoomIn: เจาะกลยุทธ์ลงทุนธีม ESG ผ่านเทรนด์ Net Zero

เทรนด์ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ถือเป็นเทรนด์การลงทุนยุคใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยนักลงทุนบางกลุ่มเริ่มให้ความสนใจบ้างแล้ว โดยมองเป็นโอกาสที่ดีในการปรับพอร์ตเข้าลงทุนรับเทรนด์โลก

จุดกำเนิดของ Net Zero มาจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ณ กรุงปารีส ซึ่งมีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มุ่งกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือ คุมอุณหภูมิพื้นผิวโลกให้สูงขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศา

ภายใต้ข้อตกลงปารีสที่สำคัญๆ คือ ทุกประเทศที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงนี้ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) จะต้องเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อยู่ในจุดสูงสุด หลังจากนั้นควรจะเริ่มปรับตัวลง กำหนดเป้าหมายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ควรจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงประมาณ 40% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายสำนักฯ ได้คาดการณ์ Best Case Scenario หากทุกประเทศเริ่มต้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมกันภายใต้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ในปี 2030 หรือ 2050 มีโอกาสที่โลกจะร้อนขึ้น 2 องศา ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าการควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศานั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก

แต่ถ้าเป็น Normal Case หรือเริ่มไม่พร้อมกัน คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะขึ้นไป 3 องศา หรือในกรณีเลวร้ายสุด ไม่มีประเทศไหนสนใจเลย อาจสูงไปถึง 5 องศา

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) มากเกินไป เมื่อมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) เสมือนโลกมีเรือนกระจกที่กั้นรังสีความร้อนเอาไว้ ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไป ถูกกักเก็บไว้จนอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกค่อย ๆ สูงขึ้น หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Climate Change ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้น โดยหลายๆ ประเทศเผชิญกับภัยแล้ง และหลายๆ ประเทศก็เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม รวมไปถึงพายุหิมะ และจากประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้นำองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้มีการจัดอันดับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กรในปัจจุบัน และในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นที่น่าสนใจว่าเรื่องของความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมถูกกำหนดขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ต่างจากในอดีตที่เน้นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

และเมื่อวิกฤติควบคุมยากการกำหนดเป้าหมายจึงมีความสำคัญ โดยเป้าหมายระยะยาวที่จะลดการปล่อย Greenhouse Gas ดูเป็นไปได้ยาก ทำให้มีการกำหนดเป้าหมายระยะกลางเข้ามาช่วย โดยในปี 2030 ได้กำหนดเป้าหมายการเป็น Carbon Neutrality หรือลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) และส่วนที่เหลือจะต้องหาทางกักเก็บ หรือชดเชย ซึ่งจะเป็นการทำคาร์บอนเครดิต, ปลูกป่า หรือวิธีการอื่น

Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของทั่วโลก จะต้องควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ

*ประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)

แม้ประเทศไทยจะไม่ใช้ผู้ที่ทำให้โลกร้อนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่การได้รับผลกระทบกลับติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจาก Climate Change ในระยะยาว เนื่องจากประเทศไทยมีการสะสมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่องและเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน เช่น เกษตรกรรม ท่องเที่ยว และการค้า

ประเทศไทย จึงประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และ Net Zero ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608) สอดคล้องกับทิศทางของนานาประเทศ ทว่าสิ่งสำคัญที่จะพาให้ประเทศไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น คือ นโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกป่า, การลดการใช้พลังงานยุคเก่า ปรับไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้จาก Road Map ของประเทศ นักลงทุนควรจะต้องพิจารณาว่าธุรกิจไหนที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจขัดแย้งกับนโยบาย โอกาสที่จะเผชิญความเสี่ยงในระยะกลางถึงระยะยาวจะมีค่อนข้างสูง

*การปรับตัวของธุรกิจเพื่อลดโลกร้อน

ESG หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นประเด็นที่มีมานานมากแล้วในต่างประเทศ ซึ่งมีการบรรลุ ESG ไปแล้วถึง 80-90% ทั่วโลก และกำลังขยับเข้าไปสู่ Net Zero ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ ขณะที่เมื่อเทียบกับประเทศไทย ธีม ESG ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปเกาะกระแสของโลก

ในปี 2021 พบว่ามีธนาคาร 2 แห่ง ได้แก่ Bank of America และ BNP Paribas ให้สินเชื่อบริษัทพลังงานทางเลือกสูงกว่าพลังงานฟอสซิล และ Google และ Amazon เป็น 2 บริษัทที่ได้ประกาศลงสนามพลังงานทางเลือก และซื้อพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ เพื่อใช้ภายในธุรกิจหลัก คือ Data Center และใช้ในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ

สำหรับในประเทศไทย มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนภายในประเทศ คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ ขณะที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด

นอกจากนี้โครงการ T-VER ยังมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความร่มรื่น และพื้นที่สีเขียวลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า สนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

แต่ด้วยการขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการของไทยในตลาดคาร์บอนภายในประเทศยังมีปริมาณไม่มาก จากตลาดคาร์บอนของไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ ทำให้ อบก.ได้จัดตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network หรือ TCNN) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“อินโฟเควสท์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากเว็บไซด์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พบว่า มีบริษัทชั้นนำกว่า 300 บริษัทเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ และในช่วงที่ผ่านมาบริษัทสมาชิกดังกล่าวได้มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซฯ โดยได้มีการประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในที่นี้จะยกตัวอย่างบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 บริษัท ได้แก่

1.กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2573 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยกำหนดกลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจ กลุ่ม ปตท. โดยการจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท.(PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก

2.บมจ.บางจาก (BCP) ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายสำคัญเป้าหมายแรกคือคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2573 ด้วยแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาว

3.บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มีเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 2593 ผ่านการมุ่งขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

4.บมจ.บ้านปู (BANPU) ในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ กำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานในทุกหน่วยธุรกิจ มุ่งเน้นให้สัดส่วนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)

5.บมจ.เบทาโกร (BTG) กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการลดการใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ (Solar rooftop) การปรับปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร และการสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน เป็นต้น

6.บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ครอบคลุมทั้งตัวบริษัทและบริการต่างๆ ที่ใช้ โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซฯ ภายในปี 2573 ลง 20% ผ่านการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การทำโปรดักส์ที่มีการปล่อยก๊าซฯ ต่ำ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการลงทุน โดยมีการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing)

7.บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP) ซึ่งมีบริษัทย่อยที่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ประกอบไปด้วย บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO), บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) โดยกลุ่มซีพีได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573

8.บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ตั้งเป้าลดดัชนีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ลงให้ได้ 20% ภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับปีฐานปี 2558

9.บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ประกาศลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยผลิตไฟฟ้าลง 10% ภายในปี 2578 และประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593

10.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เดินหน้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการลงทุนกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนปีละ 250 เมกะวัตต์ และจะต้องเพิ่มขึ้นให้ถึง 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2568 และ 4,000 เมกะวัตต์ในปี 2578 เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกเหนือจากบริษัทเหล่านี้ยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมากที่เริ่มเข้าสู่การลดการปล่อยก๊าซฯ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า (CENTEL) บมจ.ช.การช่าง(CK) บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) เป็นต้น

*โอกาสการลงทุน

นายกวินทร์ ภู่พกสกุล ผู้อำนวยการสำนักผลิตภัณฑ์การลงทุน ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ธุรกิจหลักที่ต้องจับตา คือ ธุรกิจที่มีการปล่อย Greenhouse Gas อย่างผู้ผลิตน้ำมันหรือก๊าซฯ, กลุ่มขนส่ง ทั้งรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน และขนส่งทางเรือ โดยทาง BlackRock ได้คาดการณ์ไว้ว่าตัวแปรที่จะเป็นตัวเร่งให้บริษัทเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง และหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น หลักๆ จะเกิดจากดีมานด์ต่อพลังงานยุคเก่าปรับตัวลง และราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง

ด้าน McKinsey ได้ทำการสำรวจในแต่ละอุตสาหกรรมในปี 2030 ในระหว่างช่วงของการปรับตัวไปสู่ Net Zero สามารถสร้างยอดขายต่อปีได้ 2,300-2,700 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (Trillion) และยังสามารถลดต้นทุน เพิ่มดีมานด์ ส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยชี้ให้เห็นว่าภายใต้วิกฤติยังมีโอกาส ซึ่งในกลุ่มบริษัทดังกล่าวแม้จะยังปรับตัวได้ยาก แต่หากในอนาคตปรับตัวสำเร็จโอกาสจะได้ยอดขายเข้ามาเพิ่มเติมจะมีค่อนข้างสูง

*ทางเลือกการลงทุน ESG ผ่านเทรนด์ Net Zero

กลยุทธ์การลงทุนใน ESG ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ ได้แก่

1. EXCLUSIONARY STRATEGIES คือ การไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่มีการดำเนิน ESG เช่น น้ำมัน, อาวุธสงคราม, การพนันและยาสูบ

2. INCLUSIONARY STRATEGIES การลงทุนในบริษัทที่มี Commitment ในการลดโลกร้อน โดยไม่มีการจำกัดอุตสาหกรรม

*ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในธุรกิจที่มีเป้าหมาย Net Zero

ข้อดี

– การเฟ้นหาหุ้น ESG ไม่ใช่แค่เสาะหาบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่ต้องเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำด้วย

– ลดความเสี่ยงด้านนโยบายในอนาคต

– โครงสร้างต้นทุนพลังงานที่ลดลงในระยะยาว ช่วยเพิ่มอัตรากำไรได้

– เพิ่มโอกาสด้านผลตอบแทนในระยะยาว

– ตอบโจทย์เป้าหมายที่มากไปกว่าตัวเงิน

ข้อเสีย

– การเข้าถึงข้อมูลยังทำได้ยากในปัจจุบัน

– เลี่ยงกองทุนที่มีพฤติกรรม “ฟอกเขียว” ได้ยากเช่นกัน

– ต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ในการวิเคราะห์

– ในระยะสั้นผลตอบแทนอาจไม่สูง

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างยั่งยืนที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับ Net Zero Emissions ที่หลากหลาย ทั้งหุ้น ดัชนีกองทุนรวม และตราสารหนี้ นักลงทุนสามารถเลือกให้เหมาะกับความต้องการ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน

นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้จากหลาย Sector ผ่านเทรนด์ Net Zero เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ที่กำลังปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top