ลุ้น! เงินเฟ้อไทยพ.ค.ชะลอตัว ต่ำสุดในอาเซียน คาดทั้งปีไม่เกิน 2%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อว่า ตั้งแต่ต้นปี 66 จนถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าเดือน พ.ค.66 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับไม่เกิน 14-15 จาก 130 กว่าประเทศทั่วโลก

พร้อมยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 66 จะขยายตัวไม่เกิน 2% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการเดือนพ.ค.66 นั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จะแถลงในรายละเอียดอีกครั้งสัปดาห์หน้า

รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหาร ที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคมาก เช่น หมูเนื้อแดง มีแนวโน้มลดลง ขณะนี้ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้างประมาณ 40 บาท/กก. หรือ 20% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 145 บาท/กก., เนื้อไก่ ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้าง 6-17%, ไข่ไก่ เบอร์ 3 แม้ปรับขึ้นในช่วงนี้ เพราะฤดูร้อน ไก่ออกไข่น้อยและฟองเล็ก แต่ราคาเฉลี่ยยังต่ำกว่าราคาโครงสร้างถึง 16% ส่วนราคาผักสด ในภาพรวมสัปดาห์นี้ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน เพราะเริ่มมีฝน ปริมาณผักออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับกรมการค้าภายในช่วยเชื่อมโยงระบายผักออกสู่ตลาด จึงทำให้ราคาพืชผักมีแนวโน้มปรับลดลง

  • รมว.พาณิชย์ ชี้เป็นปีทองพืชผลเกษตรไทย

ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น ข้าวเปลือก ที่ประกันรายได้ ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว, มันสำปะหลัง ราคาเฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/กก. ถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของมันสำปะหลังไทย, ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาท/กก.

สำหรับผลไม้ ปีนี้เป็นปีทองเช่นกัน เพราะราคาสูงมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ปิดฤดูกาลไปแล้ว ราคาทุเรียนเกรดส่งออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 150 บาท/กก. ปีนี้สูงถึง 187.50 บาท/กก. ทุเรียนตกเกรด ปีที่แล้ว 92 บาท/กก. ปีนี้สูงถึง 120-165 บาท/กก., มังคุด เกรดส่งออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 140 บาท /กก. ปีนี้เฉลี่ย 170-185 บาท/กก.

ขณะที่ราคาปุ๋ยเคมี เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสูงที่สุด พบว่าขณะนี้ราคาปรับลดลง เช่น ยูเรีย ลดลง 50% ปุ๋ยอื่นๆ โดยเฉลี่ย ลดลงประมาณ 30%

“ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง ขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรปรับสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่ภาระค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในสถานการณ์ที่ดี ต่ำสุดในอาเซียน และต่ำกว่าหลายประเทศในโลก” นายจุรินทร์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top