ตลท.เปิดแหล่งระดมทุน EEC Fundraising Venue 2 รูปแบบ สกุลเงินตปท.-สินทรัพย์ดิจิทัล

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุนใน EEC โดยมุ่งเป้าหมายที่ กลุ่มบริษัทข้ามชาติ กลุ่มผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ กลุ่ม SME และกลุ่มผู้ประกอบการ Start-Up ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษรวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC

สกพอ. และ ตลท. จะร่วมกันจัดทำ Feasibility Study เพื่อพัฒนาแหล่งระดมทุนดังกล่าว โดยพัฒนาระบบรองรับการระดมทุน และการซื้อขายหลักทรัพย์สำหรับกลุ่มผู้ระดมทุนเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี บนโครงสร้างพื้นฐาน (Platform) ของ ตลท. โดยมีแนวคิดพัฒนา 2 ส่วน ได้แก่

1) บนแหล่งระดมทุนเดิม (Traditional Path – SET) พัฒนากระดานระดมทุน EEC ที่ระดมทุนด้วยเงินตราต่างประเทศเป็นหลัก จะเริ่มด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นลำดับแรก ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจที่ต้องการจะระดมทุนและจัดทำงบการเงินหรือใช้เงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินหลัก สามารถทำธุรกรรมกู้ยืมระดมทุน และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ได้โดยสะดวก โดย ตลท. จะพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบซื้อขายและแพลตฟอร์มของตลาด

2) บนแหล่งระดมทุนรูปแบบใหม่ (Digital Path) ระดมทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange – TDX) ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ในการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (high value added) ที่ต้องการระดมทุนในรูป Project Finance รวมถึงกลุ่ม Start- Up และกลุ่มธุรกิจที่เป็น Innovation Base

“สกพอ. เชื่อมั่นว่า การพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC ใหม่นี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการสนับสนุนบริการการเงินในตลาดทุนและตลาดเงินของประเทศ ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ เพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจในการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการให้บริการการเงินรูปใหม่ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุน สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่อีอีซี และประเทศไทย” นายจุฬา กล่าว

ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน EEC กว่า 2,000 ราย โดยในส่วนนี้ราว 60-70% เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งหากกลุ่มนี้มีความต้องการระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะสามารถเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเทรดหุ้นกันได้ภายในปีนี้ รวมถึงกลุ่มคนไทยที่ไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งมีวงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านเหรียญฯ ก็จะสามารถดึงกลุ่มเหล่านี้กลับมาในไทยได้

นายภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) จะเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็น functional currency ให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสแก่บริษัทไทยที่จดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้ และ ตลท. มีความยินดีที่สนับสนุน EEC ในการพัฒนาดังกล่าว

ซึ่งในปัจจุบันตลท. ได้มีการพัฒนาเกณฑ์เข้าจดทะเบียนในรูปแบบ New Economy Track ด้วยสกุลบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของ EEC สามารถเข้าจดทะเบียนได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำกระดาน US dollar น่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่ไม่ได้อยากรับความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศแต่สนใจหลักทรัพย์ underlying ของไทยเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลท.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการระดมทุนดังกล่าว เช่น การพัฒนาระบบเทรด เนื่องด้วยจะมีความแตกต่างกัน จากเดิมที่รองรับการระดมทุนเป็นสกุลเงินบาท ก็อาจจะต้องพัฒนาเพิ่ม โดยจะร่วมกับ สกพอ. ในการศึกษาและพัฒนากระดานหลักทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และวิเคราะห์แนวทางต่างๆ รวมถึงความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ

“เราไม่ได้มีแนวทางที่แตกต่างกันในเรื่องของการเข้ามาจดทะเบียน ทั้งคุณภาพ การป้องกันสิทธิของผู้ถือหุ้นต่างๆ ขณะที่มองว่าความแตกต่างคือ ความสะดวกของผู้ลงทุน และบริษัทต่างๆ หากใช้สกุลเงินเป็นดอลลาร์ ก็ไม่ต้องไปแปลงค่าเงินเป็นบาท หรือแปลงบาทเป็นดอลลาร์ เพื่อนำเงินออกมาใช้ ทำให้มั่นใจว่าบริษัทต่างชาติจะเลือกการระดมทุนเป็นสกุลต่างประเทศผ่านช่องทางตรงนี้ ส่วนของนักลงทุนทั้งคนไทย และต่างชาติก็เช่นเดียวกัน ก็อาจมีความต้องการลงทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ก็จะเลือกการระดมในรูปแบบนี้ ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสมบูรณ์มากขึ้น”นายภากร กล่าว

น.ส.จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่าการพัฒนาโครงการแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) จะอำนวยประโยชน์ให้กับทั้งผู้ออกหลักทรัพย์และนักลงทุน ในการเลือกสกุลเงินที่จะระดมทุนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียน โดยยังคงยึดถือกฎเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้าจดทะเบียน ซึ่งอิงหลักการเดิมของการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายของ ก.ล.ต. ที่สนับสนุนเรื่องการลงทุนและการระดมทุนของ New Economy เพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ในเบื้องต้นหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนยังคงอยู่ โดยเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ ยังเหมือนเดิม ไม่ได้แตกต่างอะไร แต่ตลาดตรงนี้จะมีเรื่องของสกุลเงินต่างประเทศ ในส่วนของระบบเทรด ที่อาจจะแยกออกมาอีกกระดานหนึ่ง ทางก.ล.ต.และตลท.ก็จะช่วยกันพิจารณาต่อไป” น.ส.จอมขวัญ กล่าว

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การพัฒนาโครงการฯ มีความสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ที่สนับสนุนให้คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนไทยที่ต้องการถือสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศให้มีทางเลือกในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกระดมทุนในประเทศไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top