ZoomIn: มุมมองปฏิรูปการศึกษาไทย “ความคาดหวัง” จากรัฐบาลชุดใหม่

ปัจจุบันการศึกษาไทยยังคงมีปัญหาในหลายด้าน ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษาต่ำ รวมถึงปัญหาของบุคลากรสำคัญอย่างครู นอกจากนี้ เด็กไทยยังขึ้นชื่อว่าเรียนหนัก และมีจำนวนชั่วโมงเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ยังมีทักษะไม่เพียงพอต่อการแข่งขันกับนานาชาติ

โดยจะเห็นได้จากคะแนนด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ (PISA) ของไทยในปี 2561 ที่พบว่าไทยอยู่ลำดับที่ 66 จาก 79 ประเทศ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่า งบประมาณสวนทางกับผลลัพธ์อย่างสิ้นเชิง โดยในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 325,900 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.2% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดที่ 3,185,000 ล้านบาท

เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และจากการลงนามข้อตกลง MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีวาระสำคัญที่ทุกพรรคล้วนเห็นความสำคัญ คือ การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยแต่ละพรรคการเมือง มีการวางแนวนโยบายการศึกษามุ่งเน้นไปที่การเรียนฟรีสอดคล้องกัน

“อินโฟเควสท์” ได้รวบรวมความเห็นคนในแวดวงการศึกษา ถึงปัญหาและความคาดหวังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดใหม่ โดย 2 นักวิชาการมองนโยบายเรียนฟรีเป็นเรื่องดี แต่ควรให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาคบังคับให้มีคุณภาพก่อน และควรหันมาให้ความสำคัญกับสายอาชีพมากขึ้น

ผศ.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มองว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน ซึ่งการต้องปฏิรูปการศึกษาบ่อยๆ เริ่มนับหนึ่งใหม่ คนที่เหนื่อยคือเด็ก และครู แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดปกครองก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับ 1

“ในช่วงโควิด-19 เราจะเห็นการปฏิรูปการศึกษาในระยะสั้นๆ และได้ผล คือ การเรียนการสอนออนไลน์ ถึงแม้จะยังไม่ได้ดีมาก เพราะเด็กอาจได้องค์ความรู้ไม่ครบถ้วน แต่มีหน่วยงานอื่นมาช่วย ดังนั้น อะไรที่ทำออกมาแล้วดี และสามารถนำมาต่อยอดได้ก็ควรสานต่อ และยกระดับ ส่วนอะไรที่ล้าหลังก็ค่อยๆ ปรับ ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่บ่อย ก็ถือว่าไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ” ผศ.วีณัฐ กล่าว

อย่างไรก็ดี นโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคมีความน่าสนใจ และหลายๆ นโยบายก็มีการดำเนินการมาบ้างแล้ว

*นโยบายเรียนฟรี

สำหรับนโยบายเรียนฟรีจนจบปริญญาตรีของหลายพรรคการเมือง มองว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ปัจจุบันควรให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้มแข็งก่อน ให้เด็กเข้าระบบให้ได้ก่อน ส่วนในระดับปริญญาตรี ควรเป็นการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลน หรือคณะที่ตอบโจทย์ต่อแรงงานที่ต้องการจะดีกว่า

“ถ้ามีงบประมาณเพียงพอ และการศึกษาพื้นฐานเข้มแข็งแล้ว นโยบายเรียนฟรีปริญญาตรีเป็นนโยบายที่ดี ทุกนโยบายดีหมด เพราะมุ่งส่งเสริมเด็กๆ” ผศ.วีณัฐ กล่าว

*นโยบายเรียนฟรี 2 ภาษาทั่วประเทศ

มองว่าเป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะยังไม่สามารถผลิตครูด้านนี้ได้ทัน เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งภาษาส่วนใหญ่ไม่สนใจอาชีพครู เนื่องจากอาชีพอื่นให้ค่าตอบแทนได้ดีกว่า อีกหนึ่งทางออกคือการส่งเสริมเทคโนโลยีในการสอนมากขึ้น

*บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องเริ่มจากการนำนโยบายลงไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริหารรับนโยบายมา แต่ลงไปไม่ถึงผู้ปฏิบัติงานจริง

*จัดสรรงบประมาณเพิ่ม ลดภาระงานครู

ในส่วนของงบประมาณการศึกษา มองว่ายังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตของเด็ก และความคาดหวังให้เด็กมีการเจริญเติบโตตามกรอบคุณวุฒิ โรงเรียนหลายแห่งจึงต้องพยายามหางบประมาณเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มงานให้ครู ทำให้ครูหลายคนต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่การสอน ส่งผลให้ครูบางส่วนต้องออกนอกระบบไป

*เน้นเพิ่มทักษะชีวิต

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยกำลังส่งเสริมหลักสูตร Non-Degree พัฒนาทักษะชีวิต หรือการศึกษาที่ไม่ต้องมีใบปริญญา สามารถเทียบเคียงเก็บเป็นคลังหน่วยกิตได้ ขณะนี้หลักสูตรของไทยถือว่าทัดเทียมกับประเทศอื่น แต่รูปแบบการเทียบเคียงหรือคลังหน่วยกิตยังมีจุดอ่อน และมีข้อจำกัด ส่งผลให้หลักสูตรยังไม่เป็นที่ยอมรับในระบบแรงงาน สุดท้ายไทยก็จะกลับไปอยากได้ใบปริญญาเป็นเหมือนเดิม

*เปลี่ยนผ่านนโยบายจากล่างขึ้นบน

ผศ.วีณัฐ กล่าวว่า ฝากถึงรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามว่า เรื่องการศึกษาที่อยากให้เริ่มทำเป็นอันดับแรกคือการกระจายอำนาจไปยังกระทรวง ทบวง ท้องถิ่น ให้ทุกฝ่ายมานั่งพูดคุย ส่งต่อ และยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยไปพร้อมกัน

“เวลานโยบายลงมา อยากให้เริ่มจากข้างล่างขึ้นบนบ้าง เพราะถ้านโยบายอยู่ด้านบน คนที่รับคือโรงเรียนใหญ่ และโรงเรียนเล็กจะไปไม่ถึง งบประมาณจะค้างอยู่ที่โรงเรียนกลางๆ นอกจากนี้ อยากให้คุณครูจริงๆ มาพูดคุยกับผู้บริหารบ้าง เพื่อให้เห็นปัญหา และเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น” ผศ.วีณัฐ กล่าว

*ต้องแก้แบบองค์รวม

ขณะเดียวกัน ต้องมีการบริหารสั่งการอย่างเป็นระบบด้วย และนโยบายยังต้องสอดคล้องกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องนำกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดมานั่งคุยกัน เพื่อวางแผน ส่งต่องานและนโยบาย

“ทุกองค์กรควรทำงานสอดคล้องสอดรับกัน ไม่ใช่ว่าส่งนโยบายมาที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่นโยบายก็จบที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้วในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไม่สอดคล้องกัน ในส่วนของการผลิตครูก็มีคุรุสภาอีก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสมัยใหม่ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาองคาพยพได้ทุกระบบ แผนการศึกษาไทยต้องไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาเพียงกระทรวงเดียว” ผศ.วีณัฐ กล่าว

ด้าน รศ.พ.ต.ท.ศิริพงษ์ เศาภายน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า การศึกษา ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อย่างไรก็ดี การศึกษาที่ดีและตอบโจทย์ ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ดังนี้

1. การจัดหลักสูตรให้มีคุณภาพ: ให้เป็นไปตามระดับการศึกษา ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา พร้อมปรับปรุงหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอให้ทันต่อสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาทิ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง, หลักสูตรภาษาที่ 2 ให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบท, คุณธรรมและจริยธรรม และให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิต

2. บุคลากรทางการศึกษา: ส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาขับเคลื่อนไปได้ ทั้งผู้บริหารทางการศึกษา คุณครู และหน่วยศึกษานิเทศก์ ซึ่งบุคลากรทั้งหมดต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถทำงานตามหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และมีความสุขในการทำงาน ดังนั้น เรื่องขวัญและกำลังใจของบุคลากรจึงนับเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การลดภาระเรื่องที่ไม่จำเป็น การเลื่อนวิทยฐานะของครูประจำการ การปรับขึ้นเงินเดือน และค่าตอบแทน เป็นต้น

3. สื่อนวัตกรรม: ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น อาทิ แท็บเล็ต โปรแกรม Zoom เป็นต้น

รศ.พ.ต.ท.ศิริพงษ์ ยังมองว่า สำหรับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 66 จำนวนกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนโรงเรียนถือว่าไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตรงตามวัตถุประสงค์

*ให้ความสำคัญสายอาชีพ

ส่วนนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี มองว่าน่าจะยาก ควรดูแลการศึกษาภาคบังคับให้มีคุณภาพ อ่านออกเขียนได้ก่อน และเน้นเรื่องบุคลากรทางการศึกษา และให้ความสำคัญกับสายอาชีพมากขึ้น เพราะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้เร็ว แต่ไทยยังยึดค่านิยมเดิมว่าต้องเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งในส่วนนี้ รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น

คณบดีคณะศึกษาฯ ฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่า ควรให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน และพัฒนาทุกระบบของสังคม โดยรัฐควรพัฒนาเรื่องพื้นฐานให้ดี อาทิ การสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรทางการศึกษา เน้นสื่อนวัตกรรม ขณะเดียวกันต้องมีระบบในการติดตามตรวจสอบด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top